Search

Thai Ph.D. in China

บ้านหลังใหญ่สำหรับครอบครัวปริญญาเอกในจีน

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 24 สุธิศา อมรประภาวัฒน์ หรือแอดมินพี่สุ นักศึกษาปริญญาเอกจาก College of International Education, Minzu University of China

psu1

สวัสดีค่ะ ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ เราจะกลับไปที่ปักกิ่งอีกครั้ง โดยคนต้นเรื่องของเราคือแอดมินพี่สุ ที่คอยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารในกรุ๊ปแชทเราอยู่เป็นประจำ วันนี้ผู้ท่อง ฯ จะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของพี่สุในมุมนักศึกษาปริญญาเอกกันบ้าง พร้อมแล้วเราไปติดตามเรื่องราวกันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะพี่สุ

พี่สุ: สวัสดีค่ะจี

Admin: สัปดาห์นี้พี่พร้อมโดนเผาแล้วหรือยังคะ? 555

พี่สุ: เอิ่ม…ถามแบบนี้พี่ก็คงต้องพร้อมใช่ไหม?

Admin: 555 หนูแซวเล่นค่ะ เข้าเรื่องเลยดีกว่าค่ะ เริ่มจากแนะนำตัวก่อนค่ะ

พี่สุ: ค่ะ ชื่อ สุธิศา อมรประภาวัฒน์ ตอนนี้กำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่ 中央民族大学 (Minzu University of China) ค่ะสาขา International Chinese Language Education

Admin: หัวข้อวิจัยตอนนี้คืออะไรคะ

พี่สุ: หัวข้อวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของตำราเรียนด้านจีนธุรกิจของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยค่ะ (泰国大学商务汉语课程教学发展研究)

Admin: ฟังดูน่าสนใจทีเดียวค่ะ

พี่สุ: พี่เห็นเราก็สนใจทุกอันล่ะ

Admin: แหะ ๆ ก็จริงค่ะ เข้าคำถามต่อนะคะ ที่หมินต้าเรียนกี่หน่วยกิตคะ?

พี่สุ: ไม่ต่ำกว่า 20 หน่วยกิตค่ะ

Admin: เรื่องการลงวารสาร?

พี่สุ: ที่นี่ต่างชาติก็ต้องลง 2 ฉบับขึ้นไป แต่ไม่บังคับว่าต้องเป็นระดับ 核心期刊 แต่ถ้าเป็นเด็กจีนก็จะต้องลง 核心期刊 ค่ะ

psu2

Admin: การแบ่งเวลาเรียน?

พี่สุ: ก็ตอนที่เรียนอยู่ก็ต้องเตรียมหางานของอาจารย์ที่ปรึกษาและงานที่เกี่ยวข้องมาอ่านอยู่เสมอ รวมถึงวิทยานิพนธ์ของคนก่อนหน้าเราด้วยค่ะ

Admin: สัมภาษณ์ป.เอกมาหลายคนแล้ว จีอยากให้พี่สุเล่าเรื่องการสอบ Qualification Exam บ้างค่ะ

พี่สุ: เอาพี่เนี่ยนะ?

Admin: อิอิ ใช่แล้วค่ะ

พี่สุ: โอเค ในส่วนนี้พี่คิดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยก็คงแตกต่างกันไปบ้างนะ แต่ที่มหาวิทยาลัยพี่นี่คือมีสอบปากเปล่า 1 คนต่อกรรมการ 3 คน ก็จะมีฉลาก 5-6 กล่อง แล้วเราก็จับฉลากให้ครบทุกกล่องที่มี แล้วมาดูว่าคำถามที่ได้คืออะไร ดังนั้นเราจึงไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าเราจะได้คำถามเกี่ยวกับด้านไหน การอ่านหนังสือแบบหว่านจึงเกิดขึ้น

Admin: ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมมาก ๆ

พี่สุ: ใช่ค่ะจี ก็ต้องอ่านให้หมด งานวิจัย บทความ วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง รู้สึกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงชีวิตที่โหดมาก ๆ

Admin: ก็เป็นไปตามระเบียบและความสะดวกของแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะบางที่เท่าที่ทราบมาก็สอบในห้องสอบ บางที่ก็มีหัวข้อส่งมาให้ take home แล้วส่งกลับภายใน 24 ชั่วโมง

พี่สุ: ใช่ค่ะ อันนี้แล้วแต่ละที่จะจัดการเลย

Admin: เวลาว่าง ๆ พี่มีงานอดิเรกอะไรคะ?

พี่สุ: ก็จะออกไปตีแบตค่ะ

Admin: พูดถึงมหาวิทยาลัยหมินต้าบ้างค่ะ?

พี่สุ: เอาเป็นภาพรวมๆ แล้วกัน อย่างเรื่องการรับสมัครนักเรียนที่นี่ไม่ใช่แค่ยื่นเอกสารและทำ Study Plan เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสอบสัมภาษณ์ผ่าน Skype ด้วย ซึ่งอันนี้พี่ว่าจะคล้ายกับมหาวิทยาลัยเปิดในบ้านเราอย่างหนึ่งคือ เข้าง่าย อออกยาก อย่าง Skype ก็เพื่อวัดทักษะทางภาษาของเรา ดูว่าเราสื่อสารกันรู้เรื่องไหม แล้วก็จะมีถามเรื่องส่วนตัวบ้างเช่น แต่งงานหรือยัง มีครอบครัวหรือยัง ทำไมจึงสนใจมาเรียนด้านนี้  แล้วจากนั้นก็จะให้เขียนบทความสั้น ๆ มาส่งเขาตามที่กำหนดค่ะ ในส่วนของด้านความเป็นอยู่ที่หมินต้าตอนนี้ยังมีวิทยาเขตเดียว ที่นี่มีเด็กไทยราว ๆ 60 คน เรื่องหอพักเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ หอพักที่นี่เป็นห้องสูท ซึ่งจริงๆเดิมมันคือ พอนักศึกษาเยอะขึ้นก็ห้องหนึ่งพักสองคน และอีกห้องคือเอบี แทรกเข้าไปในห้องเดิม โซนบีพักสองคน โซนเอพักหนึ่งคน แต่ว่าจ่ายเพิ่มวันละ 15 หยวน นอกนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นก็มีตู้เย็นให้ในห้อง มีห้องน้ำห้องครัว เนื่องจากเป็นทางตอนเหนือ พอกลางเดือนพฤศจิกายนก็จะเริ่มส่งความร้อนมาตามท่อ เด็กไทยที่ชอบทำกับข้าวกินเอง ก็จะขอทุนมาเรียนที่นี่ อย่างที่สองคือเด็กไทยที่ขอทุนมาเรียนป.เอกที่นี่ คือจะเป็นเงื่อนไขของการขอทุนคือถ้าป.โทจบมหาลัยในประเทศจีนมาก่อน ไม่ต้องสอบ HSK เข้ามาก็ได้ค่ะ

Admin: เล่าถึงที่ปรึกษา?

พี่สุ: อ.ที่ปรึกษาชื่ออู๋อิงฮุ่ย(吴英慧)ท่านเป็นคนยูนนานค่ะ เคยประจำอยู่ที่ 云南师范大学 ท่านจะถนัดแนววิจัยแบบ 宏观系统  ดังนั้นเด็กนักเรียนจีนถ้าจะมาสอบด้านนี้ ต้องมาหาแกคนเดียว แล้วท่านก็เคยเป็นผู้บริหารรุ่นแรก ๆ ที่ดูแลโครงการอาสาสมัครชาวจีนที่ไปสอนในประเทศไทย แล้วตอนนี้ท่านเป็นคณบดีของบัณฑิตวิทยาลัยด้วย 研究生院院长กฎเกณฑ์ในการเรียนการสอบของระดับบัณฑิตศึกษาที่หมินต้านี้ท่านก็จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ซึ่งการมีที่ปรึกษาเก่งและทำงานหลายด้าน เราก็รู้สึกโชคดี แต่อีกส่วนหนึ่งที่ตามมาก็คือความคาดหวังจากอาจารย์ที่ปรึกษา  ซึ่งตรงนี้เองก็ทำให้เรารู้สึกค่อนข้างกดดันพอสมควรค่ะ

psu3
ศ.ดร.อู๋อิงฮุ่ย

Admin: อุปสรรคในการเรียน?

พี่สุ: พี่ว่าก็น่าจะคล้าย ๆ กันเป็นเรื่องของการปรับตัว ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตและการเรียนค่ะ

Admin: หนูจำได้ว่าก่อนหน้านี้เคยนำบทความที่พี่สุเขียนเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกมาลงในเพจ ตอนนั้นพี่สุพูดถึงความรู้สึกกดดันในการเรียน ตอนนี้เป็นยังไงบ้างคะ?

พี่สุ: ก็ดีขึ้นมากแล้วค่ะ การใช้ชีวิตเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะค่อย ๆ ปรับตัวไป พี่โชคดีที่ได้เจอเพื่อน ๆ ที่ดี ได้รับความรักจากคนรอบข้าง ทำให้ทุกวันนี้เวลาที่พี่มีรู้สึกมีความทุกข์ หรือความเครียด พี่ก็เรียนรู้ที่จะใช้ความสามารถของตัวเองที่มีอยู่ในการออกไปช่วยเหลือคนอื่น เพราะการได้ช่วยเหลือผู้คนมันทำให้เรามีความหมาย ทั้งกับผู้อื่นและกับโลกใบนี้

Admin: ใช้วิธีเติมเต็มผู้อื่น เพื่อเติมเต็มเราด้วย?

พี่สุ: ใช่ค่ะ คือวิธีที่พี่คิดก็คือการฝึกไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง พยายามเข้าใจผู้อื่น ซึ่งบางทีหลาย ๆ คนก็อาจจะมองว่าเราโดนเอาเปรียบ ทำไมต้องช่วยล่ะ ช่วยไปแล้วจะได้อะไรกลับมา แต่การคิดแบบนั้นมันไม่ได้ให้อะไรเราขึ้นมาเลย มีช่วงหนึ่งที่พี่ยังปรับตัวไม่ได้พี่ก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน ปิดกั้นตัวเอง และมันไม่ได้ทำให้เรามีเพื่อนมากขึ้นหรือได้อะไรจากความคิดแบบนี้เลย มีแต่จะทำให้โลกของเราแคบลง ดังนั้นการก้าวออกมาช่วยเหลือผู้อื่น มันทำให้เราได้มิตรภาพ ได้เห็นความจริงใจของผู้อื่น พี่เลยได้เรียนรู้จากตรงนี้ด้วยว่า มนุษย์เราก่อนที่จะ take อะไรจากผู้อื่น เราต้องเรียนรู้ที่จะให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนด้วย

Admin: เป็นความคิดที่ดีมากเลยค่ะ จริง ๆ แล้วบนเส้นทางนี้สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยของปริญญาเอกนั่นก็คือ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา และการจัดการกับความเครียด

พี่สุ: จริงค่ะ

Admin: นอกจากอุปสรรคด้านการใช้ชีวิตแล้ว ยังมีเรื่องการเรียนอย่างอื่นเพิ่มเติมไหมคะ?

พี่สุ: ส่วนหนึ่งก็คิดว่าการเข้าถึงข้อมูลที่ไทยยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ หรือจากอาจารย์ที่รู้จักกัน นอกจากนี้ก็จะมีไปปรึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติมจากอาจารย์จรัสศรีด้วยค่ะ ซึ่งท่านก็เมตตาและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี จากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดก็จะยิ่งทำให้เรา มองเห็นอะไรได้ชัดมากยิ่งขึ้น บางเรื่องเราก็อาจจะมองข้ามไป ซึ่งก็ถือว่าช่วยได้เยอะมาก ๆ เลยค่ะ

Admin: เรียกได้ว่าหลังพ้นอุปสรรคไป ตอนนี้รอบตัวพี่ก็มีกัลยาณมิตรและมีอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาอยู่เยอะเลยทีเดียวค่ะ

psu5

พี่สุ: ชีวิตก็ยังต้องสู้ต่อไปนะ

Admin: 555 สุดท้ายค่ะ อยากฝากข้อคิดอะไรไหมสำหรับคนที่จะเข้ามาเรียนปริญญาเอกที่จีน

พี่สุ: สำหรับปริญญาเอก ไม่ว่าจะเรียนสายไหนก็ตาม จงถามเสียงในหัวใจของคุณให้แน่วแน่ก่อนว่า พร้อมที่จะ 拼命 หรือสู้ไปอย่างสุดใจกับมันแล้วไหม สำหรับน้องใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ก็ควรจะอ่านและศึกษาข้อมูลให้เยอะ ๆ เห็นข้อมูลให้กว้างก่อนเข้ามาเรียน

Admin: วันนี้ต้องขอขอบคุณพี่สุมาก ๆ เลยค่ะ ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับเรา

พี่สุ: ขอบคุณจีด้วยค่ะ

Admin: ยินดีค่ะ

 

สำหรับชีวิตปริญญาเอก ทุกคนล้วนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมายที่ต้องฝ่าฟัน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การคว้าปริญญาเอกกลับมาก็คือ การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นและการจัดการความเครียด เพราะชีวิตในช่วงการทำวิจัยคือการฝึกจิตใจให้เข้มแข็งอย่างหนึ่ง ต้องพร้อมรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเข้ามา การทำแล็ปที่ต้องรันผลอย่างต่อเนื่อง มีผิดพลาดบ้าง ล้มเหลวบ้าง ท้อแท้บ้าง หวั่นไหวบ้าง อ่อนแอบ้าง แต่ทุกคนล้วนต้องเดินผ่านเส้นทางเหล่านั้น การเรียนปริญญาเอก ไม่สำคัญว่าคุณจะต้องเก่งกาจ หรือฉลาดมากน้อยเพียงไหน เพราะสิ่งสำคัญกว่า IQ ที่จะทำให้คนเราเดินไปถึงเป้าหมายได้ ก็คือจิตใจที่พร้อมเผชิญหน้ากับเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ย่อท้อ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ผู้ท่อง ฯ และแอดมินเพจทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงฝ่าฟันอุปสรรคทุกคน และยินดีต้อนรับผู้ที่จะก้าวเข้ามาศึกษาในภาคการศึกษาหน้าที่จะถึงนี้ สัปดาห์นี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 23 ซายน์ ธัญวรรณ แก้วปลอด นักศึกษาปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น Sun Yat-Sen University

Sine1

สวัสดีค่ะ ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ ผู้ท่อง ฯ จะพาไปรู้จักกับซายน์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาภาษาศาตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์คนเก่งจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น ที่มีข้อคิดในการใช้ชีวิต การแบ่งเวลาในการเรียนและทำวิจัย รวมถึงงานอดิเรกที่สร้างคุณค่าในการพัฒนาตนอยู่เสมอ เราไปทำความรู้จักกับเธอผ่านเรื่องราวในบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้ได้เลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะซายน์

ซายน์: สวัสดีค่ะพี่จี

Admin: แนะนำตัวด้วยค่ะ

ซายน์: ค่ะ ชื่อ ธัญวรรณ แก้วปลอด ค่ะชื่อเล่นชื่อซายน์ ตอนนี้เรียนด้านภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์ที่มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็นค่ะ

Admin: แนวทางในการวิจัยตอนนี้คือ?

ซายน์: ซายน์ทำวิจัยเกี่ยวกับไวยากรณ์ประโยคเกี่ยวกับการเปรียบเทียบ(比较句)และการนำมาใช้ค่ะ ว่าทำไมผู้ที่เรียนภาษาจีนมักใช้ผิด โดยศึกษาไวยากรณ์ในเชิงลึกซึ่งนักศึกษาใช้ผิดเป็นประจำ เช่น ฉันสูงกว่าเขา(我比他高)  ฉันไม่ขยันเท่ากับคุณหวัง(我没有王先生认真) เป็นต้น ซึ่งถือเป็นงานวิจัยสำหรับผู้ที่เรียนภาษาแล้ว ต้องหาคำตอบเกี่ยวกับการนำมาใช้ และแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการสอนและการเรียนภาษาต่อไปค่ะ

Admin: น่าสนใจค่ะ

ซายน์: ค่ะ

Admin: หลักสูตรที่นี่เป็นยังไงบ้างคะ?

ซายน์: สาขาที่เรียนเป็นหลักสูตรสามปีค่ะ โดยในปีแรกจะมีทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก มีทั้งหมด 17 หน่วยกิต ซึ่งจะเรียนเสร็จภายในปีแรกค่ะ แต่ว่าอาจารย์ที่นี่ค่อนข้างเข้มงวดพอสมควรค่ะ ดังนั้นส่วนใหญ่ที่มาเรียนที่นี่ก็จะจบช้าไป 1 ปีเป็นอย่างน้อยค่ะ

Admin: ต้องลงบทความด้วยใช่ไหมคะ?

ซายน์: ใช่ค่ะ ต้องตีพิมพ์บทความใน核心期刊 1 ฉบับ

Admin: ในส่วนของการเรียนการสอนและกิจกรรม

ซายน์: ในส่วนนี้ที่ปรึกษาจะเน้นให้นักศึกษาเข้าร่วมสัมมนางานวิจัยทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และความคิดใหม่ ๆ ในการนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยของตนเองค่ะ

Sine3

Admin: พูดถึงมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น?

ซายน์: ได้ค่ะ ที่นี่การเรียนการสอนจะเน้นผู้เรียนเป็นหลักค่ะ ให้ผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง และอาจารย์จะคอยส่งเสริมและแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียน เริ่มจากการพอเจอปัญหาจริง และหาหลักหรือวิธีในการในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ค่ะ

Admin: เป็นระบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

ซายน์: ค่ะ นอกจากนี้ซายน์อยากแนะนำสำหรับผู้ที่เรียนด้านภาษาศาตร์เผื่อเป็นตัวเลือกในการสืบหาข้อมูลการทำวิจัยเกี่ยวกับตำราเรียน ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาศาตราจารย์โจวเสี่ยวปิน (周小兵) เป็นผู้ก่อตั้งรวมไปถึงคณาจารย์อื่นในมหาวิทยาลัย  ที่นี้รวบรวมตำราเรียนทั้งจีน ไทย และของต่างประเทศไว้มากมาย ซายน์คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่ทำวิจัยในด้านตำราและสื่อการสอน  และผู้ที่เรียนทางด้านภาษา ก็สามารถสืบค้นหาข้อมูลได้จากลิ้งค์นี้ค่ะ 中山大学国际汉语教材研发与培训基地(Base for International Chinese Teaching Materials Developing and teacher training)  https://www.cntexts.com/default.aspx

Admin: ขอบคุณมากเลยค่ะ

ซายน์: ยินดีค่ะ

Admin: อุปสรรคในการเรียนและการแก้ไข?

ซายน์: อุปสรรคมันก็มีอยู่ในทุกช่วงของการทำวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นเก็บข้อมูลไปจนถึงอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราผ่านพ้นไปได้ก็คือ สติ ค่ะ แล้วก็การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมชั้นก็สามารถช่วยให้เราเห็นทางออกและผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นไปได้ง่ายขึ้นค่ะ

Admin: พูดถึงการใช้ชีวิตบ้าง เวลาว่างนอกเหนือจากการทำวิจัย ซายน์มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ?

ซายน์: ซายน์เป็นคนชอบหาความรู้ใหม่ ๆ ที่หาไม่ได้จากในตำราเรียน ชอบออกไปพบเจอผู้คน ไปเรียนรู้โลกกว้างสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีแง่คิดและทัศนคติต่าง ๆ ที่กว้างขึ้น ทั้งยังได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย และอีกอย่างบางครั้งซายน์ก็จะออกไปเป็นล่ามค่ะ งานล่ามเป็นอะไรที่สนุก ท้าทายความสามารถ และให้ความรู้เราหลายแขนง เรียกว่าเราได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ทำในเวลาว่างเหล่านี้มากเลยทีเดียว ทั้งการใช้ภาษา และฝึกพัฒนาทักษะอื่น ๆ ด้วยค่ะ

Admin: พูดถึงการเป็นล่าม อยากให้ซายน์เล่าประสบการณ์ในส่วนนี้บ้างค่ะ?

ซายน์: อันที่จริงนี่ก็อาจจะเป็นข้อดีของการมาอยู่ในเมืองกวางโจวนะคะ เพราะที่นี่เป็นเมืองสำคัญด้านธุรกิจและการค้าเมืองหนึ่ง ทำให้เรามีโอกาสและมีเวทีในการแสดงความสามารถเยอะพอสมควรค่ะ ในส่วนของการเป็นล่ามเรื่องของภาษาเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง เเต่บางครั้งในหน้างานเราก็เจอกับคำศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่เคยได้เรียนมา อันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ล่ามจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติม หาความรู้เเละอัพเดตข้อมูลอยู่เสมอ การออกมาเป็นล่ามทำให้ซายน์ได้เจอผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ได้รับความรู้จากกระบวนการและขั้นตอนของสิ่งเหล่านั้น รวมไปถึงทัศนคติของพวกเขาที่ทำให้เขาเป็นเจ้าของธุรกิจในทุกวันนี้ว่าเขาทำอย่างไร อาทิเช่น การเข้าไปดูโรงงานการผลิตอุปกรณ์ติดตั้งรถยนต์ เราต้องมีความรู้ทางด้านอะไหล่ต่าง ๆ ด้าน เทคนิคทางด้านกระบวนการทำ ในส่วนนี้เราก็ได้เพิ่มพูนความรู้ไปด้วย ซึ่งซายนด์ชอบงานล่ามนะคะ เพราะซายน์เชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการได้ฝึกเเละปฏิบัติจากสถานที่จริง สิ่งที่เราเรียนมาจึงจะได้ผล ได้นำมาประยุกต์ใช้ ในส่วนของทักษะในด้านการเจรจาธุรกิจก็เช่นกันค่ะ เราต้องใช้ไหวพริบเเละทักษะในการพูด ซึ่งผู้ที่เป็นล่าม เหมือนเป็นตัวเเทนในการสื่อสาร ต้องใช้ทักษะต่าง ๆ ผสมผสานกัน เพี่อให้การเจรจาเเละการเซ็นสัญญานั้นผ่านไปได้อย่างราบรื่น สิ่งเหล่านี้จะต้องอาศัยประสบการณ์ ใช้ความรู้พื้นฐานมากมาย และสิ่งสำคัญก็คือการเรียนรู้ในด้านภาษาที่ต้องไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องหมั่นฝึกฝนเเละพัฒนาตนเองอยู่เสมอค่ะ

Sine

Admin: นอกจากเป็นล่ามแล้ว ซายน์ยังเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้กับนักเรียนจีนด้วย?

ซายน์: ใช่ค่ะ

Admin: เล่าให้เราฟังด้วยได้ไหมคะ?

ซายน์: ยินดีค่ะ มาเรียนปริญญาเอกที่นี่ซายน์มีโอกาสได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาจีนที่มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง 广东外语外贸大学 ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ที่ได้รับโอกาสนี้ เพราะในการสอนภาษาไทย เราเองในฐานะเจ้าของภาษาก็ได้ศึกษาไวยากรณ์ภาษาไทยเพิ่มเติม รวมถึงได้เทคนิค และความรู้ต่าง ๆ มากมายในขณะทำการสอน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ได้มากทีเดียวค่ะ

Admin: พูดถึงเรื่องการเข้าถึงข้อมูลวารสารหรือฐานข้อมูลที่นี่เป็นยังไงบ้างคะ

ซายน์: ที่ใช้บ่อยๆก็มี 北京语言大学HSK动态作文语料库http://202.112.195.192:8060/hsk/quanpian.asp 中山大学连续中介语语料库 http://cilc.sysu.edu.cn 暨南大学留学生书面语语http://www.globalhuayu.com/corpus3/Search.aspx แล้วก็ BCC ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งค่ะ

Admin: เล่าถึงอาจารย์ที่ปรึกษา?

ซายน์: อาจารย์ที่ปรึกษาสอนเสมอว่าการเรียนภาษา ต้องหัดเป็นคนขี้สงสัย

Admin: ช่างสังเกตด้วย

ซายน์: ใช่ค่ะ หากเกิดปัญหา ให้พยายามหาคำตอบกับสิ่งที่เกิด หาให้เจอต้นเหตุก่อน แล้วค่อย ๆ แก้ที่เหตุนั้น ๆ ส่วนความขยันและอดทน ถือเป็นนิสัยที่นักวิจัยพึงมีค่ะ

Admin: วินัยเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

ซายน์: ใช่ค่ะ แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาก็ยังจัด Partner ให้นักศึกษาต่างชาติด้วยค่ะ เราก็จะมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นเพื่อนคนจีนหนึ่งคน ทำให้มีปัญหาอะไรก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้  ในส่วนของภาพรวมทางด้านการเรียนทั้งนักศึกษาจีนและนั่งศึกษาต่างชาติมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้คำแนะนำ กันอยู่เสมอค่ะ

Admin: ขอบคุณค่ะ สุดท้ายแล้วค่ะ ข้อคิดที่อยากฝากไว้

ซายน์: สำหรับซายน์ สิ่งสำคัญคือความขยัน อดทน และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ นี่ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นแขนงวิชาใด ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีความยากง่ายที่แตกต่างกัน ขอจงมีความเชื่อมั่น อย่าท้อถอย และมองโลกในแง่ดี  ซายน์เชื่อว่าคนเราทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์เเบบ เเต่คนเราสามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ ขอเพียงเเค่อย่าท้อ สิ่งต่าง ๆ ก็จะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี และความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ แน่นอนค่ะ ซายน์ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

Sine4

Admin: ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ ที่สละเวลาให้สัมภาษณ์กับเราในวันนี้

ซายน์: ยินดีค่ะพี่จี

 

ในช่วงชีวิตการเรียนปริญญาเอกนั้น สิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการทำวิจัยนั้นก็คือการสร้างนิสัยแห่งการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง การทำกิจกรรมในยามว่างที่สามารถพัฒนาตนเอง และยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยนั้น จะยิ่งทำให้ผู้เรียนมีพร้อมทั้งประสบการณ์และทักษะในเชิงวิชาการที่เข้มข้น พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยดีเสมอ หวังว่าเรื่องราวในสัปดาห์นี้จะให้ข้อคิดและเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนนะคะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

 

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 22 ผิงผิง ดวงพร แซ่พาน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Renmin University of China

ping1

สวัสดีค่ะ ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ เราจะพาไปรู้จักกับผิงผิง นศ.ปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ กับชีวิตการเรียน และมุมมองของเธอที่มีต่อสังคมและประเทศจีนในประเด็นต่าง ๆ เช่น เรื่องการเคลื่อนย้ายประชากร การจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม กรณีสยงอันและเรื่องอื่น ๆ เราไปติดตามเรื่องราวน่าสนใจได้ในบทสัมภาษณ์นี้กันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะผิง แนะนำตัวด้วยค่ะ

ผิงผิง: สวัสดีค่ะ ชื่อดวงพร แซ่พาน ชื่อเล่นชื่อผิงค่ะ ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ ที่ School of Sociology and Population Studies ที่มหาวิทยาลัย Renmin University of China ค่ะ

Admin: ค่ะ ก่อนหน้าที่ผิงมาเรียนสังคมศาสตร์นี้ ผิงเรียนอะไรมาก่อนคะ

ผิงผิง: คือจริง ๆ ตอนปริญญาโทผิงเรียนภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์ค่ะ พอปริญญาเอกก็ข้ามสายมาเรียนสังคมศาสตร์ค่ะ

Admin: จากสายภาษาข้ามมาเรียนด้านสังคม?

ผิงผิง: ใช่ค่ะ

Admin: อะไรเป็นสิ่งที่จุดประกายให้มาเรียนในสายนี้คะ?

ผิงผิง: ต้องบอกว่าผิงเองอยากเข้าใจคนจีนให้มากขึ้น ซึ่งตรงกับหัวใจสำคัญของสาขาสังคมศาสตร์ก็คือเข้าใจถึงแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของมนุษย์“理解人们行为背后的动机。”ซึ่งพอมาเรียนเราก็ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น ได้เห็นภาพของสังคมที่เป็นอยู่ว่ามันเป็นมายังไงค่ะ

Admin: ค่ะ แล้วที่ผิงเรียนอยู่ตอนนี้เป็นหลักสูตรกี่ปี ใช้ภาษาอะไรคะ?

ผิงผิง: ของผิงเป็นหลักสูตรภาษาจีนค่ะ สายสังคมศาสตร์ไม่มีภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาจีนล้วน ดังนั้นใครจะมาเรียนต่อสายนี้ต้องเตรียมภาษาจีนมาให้พร้อมระดับนึงค่ะ ส่วนรุ่นผิงนั้นเป็นปีสุดท้ายที่เป็นหลักสูตร 3 ปีค่ะ รุ่นปี 2016 เป็นต้นมาจะเป็นหลักสูตร 4 ปีค่ะ

Admin: ที่นี่เรียนกี่หน่วยกิตคะ?

ผิงผิง: ไม่ต่ำกว่า 22 หน่วยกิตค่ะ

Admin: มีไปฟังบรรยายพิเศษนอกสถานที่บ้างไหมคะ?

ผิงผิง: ก็มีค่ะ อยู่ที่นี่บางทีก็จะไปฟังบรรยายที่ม.ปักกิ่งกับที่ชิงหัว 北大清华讲座 คือที่นั่งมันจะเต็มเร็วมาก ถ้าอันไหนเราสมัครได้ก็สมัครไปก่อน บางครั้งสมัครไว้แล้วแต่ไปถึงแล้วห้องเต็ม ก็ต้องยืนฟังก็เคย อย่างที่มหาลัยที่ผิงเรียนนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่งทำเรื่องเพศที่สาม ซึ่งก็จะดังมากในจีน เวลาท่านบรรยายก็จะมีคนมาฟังเยอะแบบนี้เช่นกันค่ะ

Admin: ฟังดูน่าสนุกนะคะ

ผิงผิง: ค่ะ

Admin: พูดถึงการเรียนที่นี่บ้าง?

ผิงผิง: ที่จริงก็น่าจะคล้าย ๆ กับที่อื่นนะคะ มีการ discuss กันในห้องเรียนทั่ว ๆ ไป แต่ผิงว่าในคลาสจริง ๆ วิชาเรียน เนื้อหาเราอาจจะได้อะไรไม่เยอะมาก เพราะใคร ๆ ก็อ่านเองได้ แต่ในส่วนที่ผิงว่าได้เยอะที่สุดก็คือมุมมองจากเพื่อน ๆ เวลาที่กำลังถกประเด็นกันค่ะ เพราะเพื่อนร่วมชั้นของผิงแต่ละคนเป็นอาจารย์กันหมดแล้วค่ะ เค้ามาเรียนเพื่อพัฒนาในสายอาชีพ แต่ละคนก็มาจากต่างที่ทั้ง ยูนนาน เหอเป่ย หรือบางคนก็เป็นกรรมการพรรคในมหาวิทยาลัย พื้นเดิมพวกเขาจะทฤษฎีแน่นอยู่แล้ว และเคยทำโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลมาก่อน ดังนั้นกรอบแนวคิด หรือการมองปัญหาของพวกเค้าก็จะไม่เหมือนกับเรา บางเรื่องตามทฤษฎีกับความเป็นจริงมันก็สวนทางกัน เราก็ต้องหักล้างกันไป ก็ได้เห็นว่าเรื่องนโยบายของรัฐนี่มีผลกับประชาชนชัดเจนมาก ๆ เช่นกันค่ะ

ping2

Admin: พอจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ได้ไหมคะ

ผิงผิง: ได้ค่ะ ยกตัวอย่างกรณีผลักดันประชากรชนชั้นแรงงานให้ออกจากปักกิ่งเพื่อลดจำนวนประชากรให้เหลือไว้เฉพาะคนปักกิ่งจริง ๆ

Admin: ถือเป็นประเด็นร้อนที่น่าสนใจมากเลยค่ะ

ผิงผิง: ค่ะ อย่างกรณีนี้รัฐบาลก็จะพยายามผลักดันให้คนที่ไม่ได้ถือทะเบียนบ้านของปักกิ่งออกไป เพราะคนพวกนี้มาอยู่แล้วเป็นสลัม รัฐบาลก็ไม่อยากให้มี เพราะอาจจะเกิดเป็นปัญหาอาชญากรรมหรืออื่น ๆ ก็เลยพยายามผลักดันให้ออกไป อย่างพวกขายของข้างทางตอนนี้ในปักกิ่งก็หายไปได้ 90% แล้ว หรือว่าตลาดค้าส่งเสื้อผ้าก็จะย้ายไปอยู่ทีเหอเป่ยแทน พวกพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ตรงนั้นก็ต้องย้ายตามไปด้วย

Admin: ก็พอดีเลยกับที่จะสร้างเมืองใหม่ที่สยงอัน 雄安?

ผิงผิง: ก็ประมาณนั้นค่ะ อย่างกรณีสยงอันนี้คือบางคนทำงานอยู่ปักกิ่งแต่ว่าพักที่เหอเป่ยซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน นั่งรถไฟฟ้าสิบนาทีก็ถึง ดังนั้นก็จะมีคนบางส่วนที่พักอยู่ที่นั่นแล้วมาทำงานในเมือง แล้วเมื่อก่อนคนจะมาซื้อบ้านซื้อคอนโดในปักกิ่งกันเยอะมาก พอรัฐบาลออกกฎข้อบังคับออกมาก็ทำให้ซื้อได้ยากขึ้น พอข่าวออกมาว่าจะมีการย้ายเมืองไปที่สยงอัน ราคาบ้านก็ขึ้นเป็นเท่า ๆ ตัว อย่างผิงมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนสยงอัน เขามาเล่าให้ฟังว่ามีคนจีนมาเคาะห้องเพื่อติดต่อขอซื้อห้องเขาในราคา 2 ล้าน แต่เขาก็ไม่ได้ขาย คนจีนคนนั้นก็เลยบอกกับเพื่อนผิงว่าถ้ารู้ข่าวว่าคนแถวนี้มีใครจะขายบ้านให้รีบบอกเขา เขาจะมาซื้อและจะแบ่งค่านายหน้าให้ด้วยกี่เปอร์เซ็นต์ ประมาณนี้ค่ะ

Admin: เคาะประตูบ้านเพื่อขอซื้อบ้านจากเจ้าของเนี่ยนะคะ?

ผิงผิง: 55 ใช่ค่ะ

Admin: แสดงว่าการได้ใช้ชีวิตในเมืองหลวง หรือเมืองที่อาจจะกลายเป็นเมืองใหม่ในเร็ว ๆ นี้ถือเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของคนจีน

ผิงผิง: ก็อาจจะประมาณนั้นค่ะ

Admin: พูดถึงกรณีของทะเบียนบ้านกันบ้าง จริง ๆ จีเองก็เห็นเพื่อน ๆ คนจีนหลายคนเวลาเรียนจบแล้วจะหางานทำต่อในเซี่ยงไฮ้ก็ต้องวุ่นวายกับเรื่องนี้พอสมควร ผิงผิงพอจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ได้ไหมคะ

ผิงผิง: อย่างเรื่องทะเบียนบ้านหรือฮู่โข่ว 户口 เนี่ยค่ะ อย่างที่ปักกิ่งคือถ้าใครทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจก็จะมีทะเบียนบ้านของที่นี่ ถ้าเป็นงานอื่น ๆ เขาก็จะมีเกณฑ์ค่ะว่าจะยื่นขอทะเบียนบ้านที่นี่ต้องจ่ายภาษีอย่างน้อยกี่ปี และล่าสุดได้ยินมาว่าต้องทำงานที่นี่อย่างน้อยสามปีหรือห้าปีถึงจะมีสิทธิยื่นขอได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ายื่นขอแล้วครั้งเดียวจะผ่านเลยนะคะ อย่างเมื่อก่อนถ้าแต่งงานกับคนปักกิ่งก็อาจจะได้ทะเบียนบ้านที่นี่เลย แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าแต่งงานกับผู้ชายปักกิ่ง เราไม่ได้ทะเบียนบ้านที่นี่ มีลูก ลูกก็จะถือทะเบียนบ้านตามเราค่ะ นั่นหมายถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลตั้งแต่ตอนฝากท้องจะคลอด ก็ต้องเลือกโรงพยาบาลอีกแบบหนึ่ง ถ้าจะไปโรงพยาบาลดี ๆ ก็ต้องรอคิวค่ะ ถ้ามีลูกแล้วลูกจะเรียนหนังสือในปักกิ่ง คุณก็ต้องมีทะเบียนบ้านที่นี่ ไม่งั้นก็ต้องให้ลูกไปเรียนเอกชนหรือไปเรียนโรงเรียนในเกรดสามแทน ซึ่งนั่นหมายถึงสิทธิในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือที่นี่เรียกว่า “เกาข่าว” 高考 เพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปักกิ่งก็จะน้อยลงไปด้วยค่ะ

ping3

Admin: เป็นชีวิตที่มีความกดดันและต้องแข่งขันตลอดเวลา

ผิงผิง: ใช่ค่ะ ผิงว่าคนจีนมีความอดทนมากนะคะ

Admin: จริงค่ะ คนจีนอดทนมาก

ผิงผิง: อย่างขอยกตัวอย่างเพื่อนผิงอีกคนละกันค่ะ เป็นคนจีนที่เรียนด้วยกันตอนสมัยปริญญาโท เพื่อนผิงคนนี้จบออกมาก็มีเลือกงานอยู่ 2 ที่ ที่แรกเป็นบริษัทเอกชน ให้เงินเดือน 14,000 หยวนพร้อมสวัสดิการดีมาก แต่ไม่มีทะเบียนบ้านปักกิ่ง กับอีกที่หนึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้เงินเดือน 4,000 หยวน พร้อมหอพักธรรมดา แต่ว่าได้ทะเบียนบ้านปักกิ่ง เพื่อนผิงก็เลือกทำงานที่นี่เพื่อจะได้ทะเบียนบ้าน

Admin: เงินเดือน 4,000 หยวนในปักกิ่งเนี่ยนะคะ?

ผิงผิง: นั่นสิจี คิด ๆ ดูว่าเขาจะอยู่ได้ยังไง แต่เขาก็เลือกแล้ว และบริษัทมีข้อแม้ว่าต้องทำงานที่นี่ 5 ปี ถึงจะได้ทะเบียนบ้านปักกิ่งนะ

Admin: ห้ะ! ไม่ได้ทันทีแต่จะได้ภายใน 5 ปี

ผิงผิง: ใช่ค่ะ

Admin: ต้องมีความอดทนและมุ่งมั่นมากจริง ๆ แล้วตอนนี้เขายื่นเรื่องได้หรือยังคะ?

ผิงผิง: ยังค่ะ ยื่นรอบแรกแล้วยังไม่ผ่าน ต้องรอยื่นปีต่อไป

Admin: โห หมายความว่า 5 ปีที่รอคอย ยังต้องรอต่อไปอีกเหรอคะ

ผิงผิง: ค่ะ เมื่อเลือกแล้ว ก็ต้องอดทน

Admin: ฟังแล้วเราได้เข้าใจคนจีนมากขึ้นว่าทำไมพวกเขาถึงได้ขยันและมุ่งมั่น จนหลาย ๆ ครั้งเรามองว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจหรือไร้มารยาทเลยนะคะ

ผิงผิง: ค่ะ ผิงจะเล่าอีกเรื่องให้ฟังเอาไหมคะ

Admin: ได้เลยค่ะ เล่ามาเลย

ผิงผิง: ตอนที่เรียนอยู่มีอยู่คลาสนึงเรียนเกี่ยวกับเรื่องการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม อาจารย์ท่านพูดถึงว่าทำไมหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศจีนมีคนจนเยอะมาก แต่คนพวกนี้ล้มคนด้านบนไม่ได้ เพราะว่าคนที่มีเงินมาก ๆ ระดับที่อยู่บนยอดนี้ มีไม่เยอะ แต่คนตรงกลาง ๆ ที่อยู่ในระดับมีกินมีใช้มีจำนวนเยอะมากถึง 70% ในขณะที่สัดส่วนของคนที่เป็นชนชั้นแรงงาน หรือกรรมกรนั้นยังมีอยู่น้อย พวกเขาจึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ พวกเขาเองก็ต้องถีบตัวเองขึ้นมาให้อยู่ในระดับกลาง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้

Admin: และเป็นธรรมดาของคนที่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วจะต้องปกป้องรักษาตัวเองก่อน

ผิงผิง: ใช่ พวกเขาก็จะปกป้องรักษาสถานภาพของตัวเองที่ก้าวเข้ามาอยู่ในระดับนั้นได้แล้วให้ดีที่สุด อาจารย์ผิงใช้คำว่า คุณจะไม่มีวันรู้ว่าคุณเป็นคนยังไงจนกว่าคุณจะไปยืนอยู่บนจุดนั้น

Admin: จริงค่ะ

ผิงผิง: มีเพื่อนผิงคนหนึ่งค่ะเค้าทำวิจัยเกี่ยวกับชาวนา คือชนชั้นนี้ดูเหมือนจะมี reflection สูง แต่เอาเข้าจริง ๆ พวกเขากลับไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตของเขาต้องเข้าไปอยู่ในเมือง หรือว่าต้องการแบบนั้น เพราะมนุษย์เราจะเปรียบเทียบตัวเองกับสภาพแวดล้อมที่เราเป็นอยู่

Admin: จีเคยอ่านบทความหนึ่งของอ.อาร์ม ตั้งนิรันดร ก็เขียนทำนองนี้ค่ะ

ผิงผิง: ใช่ค่ะ ในขณะที่คนในชนบทส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อได้เข้าไปในเมืองแล้ว ก็จะไม่ยอมกลับบ้านเกิด เพราะทำงานในเมืองมันไม่เหนื่อย เงินเดือนก็คงที่ แม้ว่าจะเป็นเพียงลูกจ้าง พนักงานเสิร์ฟ หรืออื่น ๆ แต่มันก็ไม่เหนื่อยเหมือนทำไร่ แถมโดยมากก็ทำงานในห้องแอร์ และในเมืองก็ยังมีสิ่งบันเทิงอื่น ๆ ให้พวกเขาอีก

Admin: ธรรมดาของมนุษย์เมื่อได้เจอสิ่งที่ดีกว่าก็จะไม่อยากกลับไปกินของเก่าที่เคยกิน

ผิงผิง: ใช่ แต่เอาเข้าจริง ๆ มันก็จะมีบางคนล่ะ ที่จะกลับบ้านเกิดไปพัฒนา แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

Admin: ค่ะ พูดถึงกิจกรรมยามว่างของผิงบ้าง?

ผิงผิง: ผิงก็จะออกไปเที่ยว ชอบเที่ยวแบ็คแพ็คค่ะ แต่มาช่วงนี้กำลังติดเกมในโทรศัพท์ค่ะ 555

ping4

Admin: 555 ให้ผิงเล่าถึงอาจารย์ที่ปรึกษาบ้าง?

ผิงผิง: อาจารย์ที่ปรึกษาท่านดูแลดีมากค่ะ อย่างเพื่อน ๆ ในคลาสพวกเราก็จะสนิทกัน เพราะผิงจะอยู่มหาวิทยาลัยตลอด เวลาเพื่อน ๆ แวะมาก็จะมาชวนไปกินข้าว แล้วก็เล่าโน่นนี่ให้ฟัง ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดค่ะ แต่ก็ต้องเล่าด้วยว่าก่อนหน้านี้อาจารย์ที่ปรึกษาของผิงประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูงต้องรักษาตัวอยู่ใน ICU สองเดือน ตอนนั้นทุกคนก็คิดว่าอาจารย์คงจะไม่รอดแน่ๆ เราเองก็ท้อแท้มากเช่นกันแต่ก็ยังไม่กล้าบอกกับที่บ้าน ตอนนั้นอาจารย์ที่คณะก็บอกเรานะว่าจะรอที่ปรึกษาหรือว่าจะเปลี่ยนคนใหม่ คือถ้าเราเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแนววิจัยใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องรอดูอาการของอาจารย์ไป ตอนนั้นเราเลยปล่อยวาง ออกไปเที่ยวไปใช้ชีวิตอย่างเดียวเลย จนตอนนี้อาจารย์ออกจากไอซียูแล้ว เราจึงได้บอกกับที่บ้าน ช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงรอเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ค่ะ

Admin: เป็นกำลังใจให้นะคะ

ผิงผิง: ขอบคุณมากค่ะ

Admin: สุดท้ายแล้วค่ะ อยากให้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับคนที่จะเข้ามาเรียนต่อในประเทศจีน

ผิงผิง: ส่วนตัวนะ ผิงว่าการมาเรียนจีนไม่ว่าจะมีจุดหมายเป็นการเรียนด้านภาษา หรือเรียนเพื่อไปทำงาน หรือเพื่ออะไรก็ตาม ก็ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทั้งนั้น แต่ในการมาอยู่มาใช้ชีวิตที่นี่ เราจำเป็นต้องปรับตัวและทำความเข้าใจ แล้วเราจะมีความสุขในการใช้ชีวิต เพราะที่จริงคนจีนก็มีด้านดี ยิ่งในเมืองใหญ่ ยิ่งมีความซับซ้อนมากว่าที่อื่น อย่างเรื่องห้องน้ำเราจะได้ยินคนพูดถึงบ่อยมากนะ แต่เอาเข้าจริง ๆ หากเรามองให้ดีจะเห็นว่า จีนพัฒนาไปไกลกว่าเรื่องนี้แล้ว ก้าวล้ำประเทศไทยไปมากแล้ว ดังนั้นการมาอยู่ที่นี่ มาเรียนมาใช้ชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ เราจึงควรที่จะปรับตัว ผิงคิดว่าปรับตัวอยู่ที่นี่ได้ ก็สามารถไปอยู่ที่อื่นได้

Admin: ขอบคุณมากค่ะผิง ที่สละเวลาให้สัมภาษณ์ในวันนี้

ผิงผิง: ยินดีค่ะแอดมินจี

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับบทสัมภาษณ์ในวันนี้ เราได้เห็นภาพของสังคมจีนในอีกมุมหนึ่งซึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจคนจีนได้มากขึ้น ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า โครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างไทยและจีนนับวันก็จะยิ่งครอบคลุมและแผ่ขยายออกไปในหลากหลายสาขา ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงภาคธุรกิจรายย่อย แทบจะไม่มีใครไม่เคยประสบกับชาวจีน ดังนั้นการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้จักกันให้รอบด้าน ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าใจกันและกันมากขึ้น หวังว่าบทสัมภาษณ์ในวันนี้จะให้ทั้งสาระความรู้และอรรถรสความสนุกกับผู้อ่านทุกท่านนะคะ วันนี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 21 ธีรภาพ ปรีดีพจน์ อ.ประจำสำนักจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับงานวิจัยด้านการเปรียบเทียบระบบคำในภาษาไทยกับภาษาจีน สาขาภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัย Xiamen University

Ptee3

 

สวัสดีค่ะ คอลัมน์ของเราในวันนี้ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ของปริญญาเอกทุน Confucius China Studies Program (新汉学)ผ่านเรื่องราวของอ.ธีรภาพที่กำลังศึกษาในเรื่องของระบบคำ (Lexicology) ที่มหาวิทยาลัย Xiamen University มาฝากกันค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะพี่ธีรภาพ

อ.ธีรภาพ: สวัสดีครับน้องจี

Admin: แนะนำตัวนิดนึงค่ะ

อ.ธีรภาพ: ครับผม ชื่อธีรภาพ ปรีดีพจน์นะครับ ตอนนี้ศึกษาด้านการเปรียบเทียบระบบคำในภาษาไทยกับภาษาจีนโดยเน้นศึกษากลุ่มคำที่ผู้เรียนภาษาจีนในไทยมักใช้ผิด (易混淆词)ครับ

Admin: การเรียนที่นี่?

อ.ธีรภาพ: การเรียนอย่างในปีแรกทั้งปีก็มีวิชาเรียนครับ ที่นี่เป็นหลักสูตร 4 ปี มีทั้งหมด 12 หน่วยกิตและอีก 2 หน่วยไม่มีคลาสเรียนแต่แบ่งเป็นบำเพ็ญประโยชน์ (活动社会)หรือเป็นผู้ช่วยวิจัย ก็ให้หน่วยงานเหล่านั้นรับรองแล้วเอามายื่นเป็นหน่วยกิตครับ ส่วนอีกอันคือการสอบวัดประมวลผลองค์ความรู้รวมในสาขาวิชาของเรา ซึ่งเป็นกระบวนการในการเรียนที่นี่ที่จะต้องผ่านอันนี้ก่อน จึงจะสามารถเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ครับ

Admin: ค่ะ

อ.ธีรภาพ: อย่างของพี่คือทำงานมาก่อน พออยู่ในวัยทำงานเราออกจากที่ทำงานมาเข้าสู่ภาวะของการเรียนอีกครั้งหนึ่งมันก็รู้สึกผ่อนคลายลงบ้างนะ

Admin: ค่ะ พี่ธีรภาพแนะนำเรื่องระบบคำคร่าวๆให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ?

อ.ธีรภาพ: ครับผม ในส่วนของระบบคำหรือ Lexicology ภาษาจีนเรียกว่า词汇学 (อ่านว่า ฉือ-ฮุ่ย-เสวีย) ครับต้องบอกว่าระบบคำนั้นมันมีความสัมพันธ์กับไวยากรณ์ คือเมื่อก่อนนี้ก็จะรวมอยู่ในเรื่องไวยากรณ์นั่นล่ะ แต่ตอนหลังก็แยกออกมาเป็นสายต่างหาก ก็จะเรียนเกี่ยวกับเรื่องคำ รู้ว่าอะไรคือคำ ต้องรู้จักว่าคำมีประเภทอะไรบ้าง คำโดด คำผสม พอเข้ามาในคำผสมอีกทีก็แยกย่อยว่าเป็นคำประเภทไหน แล้วก็โครงสร้างของคำ การสร้างคำ (构词)มีแบบไหนบ้าง มีคำประสมที่แยกย่อยไปอย่างไร แต่งานวิจัยหลักๆที่ทำกันก็ยังจับเกี่ยวกับหลักภาษาและไวยากรณ์อยู่ครับ อย่างที่ปรึกษาผมเน้นไปที่การวิจัยคำศัพท์ในเชิงปริมาณ (计量)ก็รวมไปถึงพวกพจนานุกรมต่างๆเช่น 现代汉语词典 ก็ดูว่าคำประเภทต่างๆในพจนานุกรมนั้นมีเท่าไหร่ ทำเป็นสถิติออกมา หรือพจนานุกรมเองก็มีการเปรียบเทียบเล่มเดียวกันตีพิมพ์รอบต่างกัน หรือพจนานุกรมเองก็มีแนวว่าทำเพื่อให้คนเจ้าของภาษาใช้หรือให้คนต่างชาติใช้ ประมาณนี้ครับ คือแนววิจัยเชิงเปรียบเทียบก็จะเห็นเกี่ยวกับการนำไปใช้งานได้จริง เพราะถ้าเน้นทำเฉพาะทฤษฎี มันก็จะเอาไปใช้งานโดยตรงได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Admin: ฟังดูน่าสนใจดีนะคะ

อ.ธีรภาพ: ครับผม

Admin: พูดถึงการเรียนด้านภาษาศาสตร์บ้างค่ะ?

อ.ธีรภาพ: ครับ ผมว่าคนที่เรียนสาขาภาษาศาสตร์น่าจะประสบปัญหาคล้าย ๆ กันคือเราไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์โดยตรงมาจากไทย ดังนั้นทฤษฎีเราจึงค่อนข้างอ่อน แต่เราจะไปเน้นที่การใช้งานและการสอนเสียมากกว่า ซึ่งในส่วนนี้จีนพัฒนาไปไกลมาก งานวิจัยเยอะมาก ๆ ครับ อย่างในบ้านเราคือตำราด้านไวยากรณ์และภาษาศาสตร์ก็มีจำกัด ในขณะที่จีนมีงบประมาณสนับสนุนเยอะ มีคนทำวิจัยเยอะเขาก็เลยพัฒนาไปเร็วมาก ยิ่งถ้าเทียบสัดส่วนสายภาษาของคนที่ไทยที่จะเรียนมาลึกถึงระดับป.โทป.เอกก็ยิ่งน้อยครับ

Ptee4

Admin: แต่การวิจัยทางด้านภาษาเองก็สำคัญไม่แพ้กัน?

อ.ธีรภาพ: ครับ ทุกสาขาก็มีความสำคัญในแบบของตัวเอง จริงอยู่ที่ไทยเราไม่ใช่ภาษาตระกูลใหญ่ และไม่ได้แพร่หลายมาก เพราะฉะนั้นเราไม่มีเรื่องของการขยายอิทธิพลทางภาษาออกไปสู่ทั่วโลกเท่าไหร่ ปัจจัยนี้อาจจะทำให้บ้านเราให้ความสนใจค่อนข้างน้อย งบมาถึงน้อย ก็เลยทำให้ผลงานต่างๆและการพัฒนาด้านภาษาศาสตร์ในไทยก็ยังไม่ไกลเท่าที่ควร อย่างพวกพี่สอนภาษาจีนในไทยใช่ไหมครับ เรารับองค์ความรู้จากจีนในสายต่าง ๆเพื่อมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนในบ้านเรา เราจะคิดแต่ว่าระดับภาษาจีนเราดี สื่อสารรู้เรื่องก็พอแล้วคงไม่ได้ ถ้าคิดแค่นี้เราก็จะติดว่าเราอธิบายในเรื่องของการใช้ภาษาไม่ได้ แต่หลังจากที่เราเรียนสาขานี้แล้ว เราก็จะพบว่าเราสามารถอธิบายอะไรได้อีกหลาย ๆ อย่าง บริบทไหนควรใช้อะไร มันทำให้เราอธิบายได้เยอะขึ้น เช่นคำพ้องความหมายหรือความหมายใกล้เคียงเราอาจจะคุ้นชินเลยเลือกใช้ได้ถูกต้อง แต่เราอธิบายไม่ได้ว่าแต่ละคำมันต่างกันยังไง ซึ่งในการสอนภาษาต่างประเทศเราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเหมือนเราไม่รับผิดชอบกับหน้าที่ของเรา เหมือนเราโยนภาระให้นักเรียนว่าไปจำ ๆ เอาเองนะ ซึ่งเราเป็นอาจารย์เรามีหน้าที่ และเราควรจะหาคำตอบให้เค้าได้ ผมก็เลยสนใจศึกษาในเรื่องคำพ้องความหมายพวกนี้ ซึ่งหากผู้วิจัยไม่มีเซ้นส์ทางภาษาก็ต้องไปหาหลักและทฤษฎีมาสนับสนุน เพื่อที่ผู้อื่นจะได้เอาไปอ่านประกอบ เอาไปสอนและนำไปประยุกต์ใช้ เช่นคำที่มีความหมายใกล้เคียงนี้มันจะมีเรื่องของการเข้าคู่กัน เรื่องของความต่างบางทีมันอยู่ที่การใช้งาน ไม่ได้อยู่ที่ความหมาย เราก็ต้องอธิบายออกมาให้ได้ว่ามันเข้าคู่กับอันไหน อย่างไร และบางทีมันมีความต่างกันตรงที่เป็นบริบทความหมายที่เป็นบวกลบ นี้คือหน้าที่ที่นักภาษาศาสตร์ต้องเอาไปจัดกลุ่มจัดก้อนและแบ่งแยกระบบให้ชัดเจน เวลาใช้คำจะได้ใช้คำได้แม่นยำมากขึ้น

Admin: ค่ะ การเข้าถึงฐานข้อมูลที่นี่?

อ.ธีรภาพ: ผมว่า Corpus ที่จีนเยี่ยมมากครับ โดยเฉพาะด้านภาษาศาสตร์ มีให้เลือกใช้ทั้ง CCL ของม.ปักกิ่ง BCC ของเป่ยอวี่ อย่าง BCC นี้มีทำสถิติ ทำกราฟให้ด้วยว่าคำนี้เข้าคู่กับคำไหน และมีลิงก์ไปหา Corpus อื่นๆได้ด้วย ของที่จงซาน กับของจี้หนานรู้สึกยังใช้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ อีกอันของ CNCORPUS นี้ก็ดีครับ ซึ่งส่วนนี้หากเทียบกับของบ้านเราแล้ว เรายังใช้งานยากกว่าครับ

Admin: การดูแลของที่ปรึกษา?

อ.ธีรภาพ: อ.ที่ปรึกษาผมชื่อซูซินชุน苏新春 ครับ ที่จริงท่านเกษียณแล้วแต่มหาวิทยาลัยยังให้ท่านต่ออายุอยู่ครับ อย่างที่ม.ผมนี้เป็นศูนย์วิจัยด้านการตรวจทานภาษา国家语言资源监测教育教材研究中心ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาผมเป็นหัวหน้าศูนย์ เราก็เลยได้เข้ามาทำในส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้ก็จะมีอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในศูนย์อีกครับ สัดส่วนของนักเรียนจีนกับต่างชาติเลยพอ ๆ กัน ที่ปรึกษาผมท่านดูแลเอาใจใส่นักศึกษาดีครับ อย่างพวกเราเป็นนักศึกษาต่างชาติอาจารย์ก็จะบอกให้คนจีนคอยดูแลพวกเราด้วย ถ้าหากมีปัญหาต่าง ๆ พวกเขาก็จะมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพื่อน ๆ ก็จะเอื้อเฟื้อและให้การดูแลเราดีครับ ที่นี่มีเข้าโครงการวิจัยด้วยครับ ก็จะจับกลุ่มกับคนจีน แล้วแต่โปรเจ็ควิจัยครับว่าทำอะไร อย่างของโปรเจ็คที่พี่ทำตอนนี้คือ 分类词典 คือทำของฉบับปรับปรุง เราก็ได้ช่วยคัดกรอง ช่วยดู ช่วยอะไรต่าง ๆ ก็ทำควบคู่ไปกับคนจีน ได้เรียนรู้ไปกับเขาด้วยครับ

Admin: พูดถึงทุน Confucius China Studies Program หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าซินฮั่นเสวีย(新汉学)บ้างค่ะ?

อ.ธีรภาพ: ครับผม สำหรับทุนนี้เป็นทุนสำหรับนศ.ป.เอกเท่านั้น มีเกณฑ์การคัดเลือกคือ หลังจากที่เรายื่นใบสมัคร และหลักฐานต่างๆ ก็จะมีการสอบสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ผ่านทาง SKYPE ประมาณ 10-15 นาทีครับ

Admin: ทุนนี้มีเงื่อนไขอะไรไหมคะ?

อ.ธีรภาพ: ไม่มีครับ เป็นทุนให้เปล่าเหมือนกัน ไม่มีข้อผูกมัด และไม่ได้ระบุเรื่องว่าต้องมีต้นสังกัดใดๆ

Admin: จำกัดสาขาในการเรียนไหม?

อ.ธีรภาพ: ก็ถ้าเป็นสายภาษาและสังคมศาสตร์ ก็ถือว่ายังอยู่ในข่ายนี้ครับ

Admin: มหาวิทยาลัย?

อ.ธีรภาพ: มหาวิทยาลัยเราสามารถเลือกได้สองอันดับครับ ตามลิสท์รายชื่อที่มีให้เลือก ราวๆสิบกว่าสถาบัน อย่างถ้าเป็นเซี่ยงไฮ้ก็มีที่ Fudan กับ ECNU ครับ ถ้าเป็นทางใต้ก็มี 3 แห่งคือมหาวิทยาลัยเสฉวน (四川大学)กับมหาวิทยาลัย Sun Yat-Sen (中山大学) แล้วก็ที่นี่ครับ

Admin: ทุนนี้ให้ค่าใช้จ่ายรายเดือนยังไงคะ?

อ.ธีรภาพ: ในส่วนของทุนจะจ่ายเป็นเงินก้อนครับ ให้เป็นเทอม เทอมนึงมีเฉพาะเงินทุนสี่หมื่นหยวน ค่าสำหรับทำวิจัย (研究费)ค่าที่เกียวข้องกับการประชุมสัมมนาต่างๆเบ็ดเสร็จรวมทั้งหมดห้าหมื่นหยวนต่อเทอมครับ

Admin: ขั้นตอนในการขอทุน?

อ.ธีรภาพ: ก็คล้ายกับ CSC ครับ แต่เรายื่นเอกสารส่งไปทางฮั่นปั้น (汉办)แล้วทางฮั่นปั้นก็จะส่งเอกสารเหล่านี้ไปยังมหาวิทยาลัยที่เราเลือกทั้งสองอันดับ โดยที่กระบวนการที่เราเลือกมหาลัย เขาจะมีที่ปรึกษาในสาขาต่างๆให้เราเลือก เอกสารจะส่งมายังมหาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย เสร็จแล้วถ้าตอบรับเราจะได้ที่ปรึกษาและที่มหาลัยพร้อมกันครับ

Admin: ปัจจุบันทุนนี้มีกี่รุ่นแล้วคะ?

อ.ธีรภาพ: ปีนี้ก็น่าจะเป็นรุ่นที่ 5 แล้วนะครับ

Admin: แนวโน้มในการขอทุนนี้?

อ.ธีรภาพ: แนวโน้มหรอ ผมว่ารุ่นหลังๆโควตาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่จะน้อยลงนะ อาจด้วยนโยบายOBOR (一带一路)ที่เน้นให้ไปทางเอเชียกลางกับเอเชียตะวันตกเยอะขึ้น อันนี้สังเกตจากนักศึกษาต่างชาติที่ม.ที่ผมเรียนนะ

Admin: ค่ะ ก็แปลว่าถ้าใครสนใจทุนนี้ก็ลองยื่นมาได้อยู่

อ.ธีรภาพ: ครับ ก็ยื่นมาได้ เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของฮั่นปั้นก็ได้ครับ

Admin: ค่ะ

P'Tee

Admin: พูดถึงมหาวิทยาลัยเซี่ยต้า Xiamen University บ้างค่ะ?

อ.ธีรภาพ: ครับผมเซี่ยต้าตอนเริ่มก่อตั้งนี้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ผู้ก่อตั้งคือ Tan Kah Kee (陈嘉庚)เป็นชาวจีนโพ้นทะเล หลังจากแกทำธุรกิจไม้สักจนร่ำรวยก็ย้อนกลับมาที่บ้านเกิดมาสร้างมหาลัยแห่งนี้ และยังมีม.จี๋เหม่ ย (集美大学)และม.หัวเฉียว (华侨大学) ด้วยที่แกเป็นผู้ก่อตั้งครับ ม.แห่งนี้จะได้ยินคนจีนพูดบ่อยว่าเป็นม.ที่สวยที่สุดในจีนนะ เพราะข้ามถนนไปก็เป็นชายหาดแล้ว ชายหาดฝั่งมหาลัยจะมีถนนเลียบหาดครับ เรียกว่าป๋ายเฉิง (白城) ซึ่งเป็นที่ดินของมหาลัย จึงเหมือนกับว่าที่นี่มีหาดส่วนตัว แต่ที่บอกว่าสวยที่สุดนี้ ผมคิดว่าแต่ละที่ในประเทศจีนก็มีเอกลักษณ์ต่างกันนะ เพียงแต่ที่นี่เป็นที่ขึ้นชื่อของนักท่องเที่ยวมาก จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในมหาลัยเป็นหลักร้อยหลักพันเป็นปกติ ที่มหาลัยจึงต้องแบ่งเวลาให้นักท่องเที่ยวมาเฉพาะช่วงเที่ยงและช่วงเย็นครับ ถ้าด้านการเรียนสาขาวิชาทางด้านบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของที่นี่ก็มีชื่อเสียงในระดับโลกเหมือนกันครับ ที่นี่มีสองวิทยาเขตครับ อย่างวิทยาเขตที่ติดทะเลจะเรียกว่าเปิ่นปู้ (本部)ส่วนอีกที่หนึ่งอยู่เสียงอัน (翔安)ครับ ในส่วนของอากาศที่นี่ก็ใกล้เคียงกับประเทศไทยพอสมควรครับ

Admin: ค่ะ เรื่องหอพักที่นี่เป็นอย่างไรบ้างคะ

อ.ธีรภาพ: หอพักนศ.ต่างชาติที่นี่ ห้องนักศึกษาปริญญาตรีจะพัก 4 คนต่อห้อง ปริญญาโท 2 คน ปริญญาเอกพักคนเดียวครับ อย่างถ้าเป็นทุนซินฮั่นเสวียก็ต้องจ่ายค่าห้องเอง ถ้าอยู่แบบห้อง 4 คน คิดรายวันวันละ 8 หยวนต่อเตียง ปริญญาโทคนละประมาณ 900  หยวน ปริญญาเอกห้องเตียงคู่เดือนละ 1,500 เตียงเดี่ยวเดือนละ 1,800 หยวนครับ

Admin: โห… หนูอยากจะลาออกจากเซี่ยงไฮ้แล้วไปเซี่ยะเหมินเดี๋ยวนี้เลยค่ะ

อ.ธีรภาพ: 555 ครับ ค่าใช้จ่ายที่นี่เทียบกับเมืองใหญ่ๆอย่างปักกิ่ง กวางโจว เซี่ยงไฮ้ (北上广)แล้วถือว่าถูกกว่ามาก ๆ ครับ

Admin: พูดถึงกิจกรรมยามว่าง?

อ.ธีรภาพ: ผมเน้นหาของกินมากกว่าครับ 55 เพราะอาหารที่นี่ไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่ ชอบทำอาหารเอง ก็เลยไปทำที่ห้องคนจีนบ้าง ทำอะไรที่ไม่ต้องใช้กระทะ ทำน้ำพริกแล้วก็เอาออกไปกินข้างนอกเอง อย่างเล่นกีฬาพวกนี้ก็เป็นเทอม ๆ ไป เทอมแรก ๆ ก็ไปตีปิงปอง พอหลัง ๆ ก็เข้าฟิตเนสอยู่ประมาณปีหนึ่ง ช่วงนี้ปีสามก็เน้นไปวิ่งตอนเย็นมากกว่า เพราะสนามอยู่ใกล้ๆกับตึกคณะ อย่างตอนนี้ก็วิ่งเกือบทุกวัน เพราะว่าคนจีนหลาย ๆ คนบอกว่า 课题是导师的,身体是自己的 (หัวข้อวิจัยเป็นของอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ร่างกายนั้นเป็นของเรา)

Admin: เป็นสโลแกนที่ดีมากเลยค่ะ

อ.ธีรภาพ: ครับ

Ptee2

Admin: สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับคนที่จะมาเรียนต่อ?

อ.ธีรภาพ: สำหรับนักศึกษาไทยที่สนใจมาต่อด้านนี้ ผมว่าควรจะเตรียมพร้อมพื้นฐานภาษาศาสตร์ทางด้านภาษาไทยหรือมีพื้นฐานมาก่อนครับ เพื่อที่เวลาเรียนจะได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นข้อคิดในการเรียนหรือใช้ชีวิต พี่คิดว่าถ้าเรารู้อะไรมาเราแบ่งปันต่อ เราสอนต่อให้คนอื่น อันนี้นอกจากเราจะได้ การสอนต่อหรือถ่ายทอดต่อเป็นวิธีการที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง เวลาเราสอนเราจะจำได้ดีกว่าเราบริโภคข้อมูลเอง เวลาสอนลูกก็จะบอกเขาเหมือนกันคือไม่ต้องหวงความรู้นะ มีอะไรก็บอกต่อสอนต่อ สอนครั้งเดียวจำได้แม่นกว่าบางทีที่เราท่องหนังสือเองเสียอีก

Admin: วันนี้ต้องขอบคุณพี่ธีรภาพมาก ๆ เลยค่ะที่สละเวลามาให้ข้อมูลกับเรา

อ.ธีรภาพ: ยินดีครับ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้ สำหรับใครที่สนใจเรื่องทุน Confucius China Studies Program 新汉学สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางนี้ค่ะ http://ccsp.chinese.cn/article/2015-12/04/content_626189.htm สัปดาห์หน้าเราจะพาไปรู้จักกับ Ph.D. Candidate ท่านใด อย่าลืมติดตามได้ที่นี่ Thai Ph.D. in China วันนี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย:  Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ชีวิต PhD ในแดนมังกรตอนที่ 20 พี่ป้อม กาญจนา จันทร์สุขพุ่ม นักศึกษาปริญญาเอกสาขา Management Science and Engineering จากมหาวิทยาลัย Wuhan University

pomสวัสดีค่ะคอลัมน์ ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้เราจะพาไปรู้จักกับพี่ป้อม Candidate ด้านการจัดการสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ที่กำลังคร่ำเคร่งกับงานวิจัยและการตีพิมพ์บทความ ชีวิตปริญญาเอกที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การต่อสู้กับอุปสรรคทางด้านภาษาและการข้ามสายมาเรียนในด้านนี้ เราไปติดตามเรื่องราวของเธอจากบทสัมภาษณ์กันได้เลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะพี่ป้อม

พี่ป้อม: สวัสดีค่ะน้องจี

Admin: แนะนำตัวด้วยค่ะ

พี่ป้อม: ค่ะ ชื่อกาญจนา จันทร์สุขพุ่ม ชื่อเล่นว่าป้อมนะคะ ตอนนี้เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น Wuhan University สาขา Management Science and Engineering (管理科学与工程)ค่ะ

Admin: พี่ป้อมทำหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับอะไรคะ?

พี่ป้อม: ทำด้าน E-Commerce ค่ะ หัวข้อของพี่คือ ศึกษาพฤติกรรมการใช้เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการท่องเที่ยวของผู้บริโภคชาวไทยค่ะ หรือพูดง่ายๆก็คือศึกษาการใช้บริการท่องเที่ยวออนไลน์ของคนไทยค่ะ

Admin: ซื้อตั๋วออนไลน์นี่เป็นที่นิยมมากเลยนะคะในประเทศจีน

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ และเพราะว่าที่ปรึกษาท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านระบบสารสนเทศและ E-Commerce ท่านจึงแนะนำให้ทำหัวข้อวิจัยนี้ค่ะ อย่างของพี่ก็แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มผู้ที่ไม่เคยใช้บริการอีคอมเมิร์ซมาก่อน กับกลุ่มที่เคยใช้บริการมาแล้ว และศึกษาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ใช้บริการนี้ ขณะเดียวกันก็ศึกษาว่าปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อการใช้บริการในครั้งต่อไปของกลุ่มที่เคยใช้บริการแล้ว และก็นำข้อมูลทั้งสองส่วนนี้มาเปรียบเทียบกันค่ะ

Admin: การแบ่งเวลาในการเรียน?

พี่ป้อม: อย่างถ้าหมด Coursework แล้วที่นี่ก็จะจัดให้นักศึกษาไปนั่งทำงานในแลปทุกวันค่ะ คือที่ใช้คำว่า”แลป”นี้ก็เป็นตามคำเรียกของคนจีนที่ถอดมาจากภาษาจีนว่า 实验室  แต่อาจจะไม่ได้เหมือนแลปในความเข้าใจของคนไทยที่เป็นห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์นะคะ เพราะที่นี่เป็นห้องสำนักงานของอาจารย์ที่ปรึกษาที่จัดไว้ให้สำหรับนักศึกษาใช้ทำงานวิจัยค่ะ

Admin: โห มีห้องให้เรียบร้อยเลยหรอคะ

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ ปกติพี่ก็จะอยู่แลปตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม เสาร์อาทิตย์ถ้ามีเวลาว่างก็จะออกไปเดินเล่นนอกมหาวิทยาลัยบ้างค่ะ

Admin: ค่ะ พี่ป้อมช่วยเล่าถึงคณะคร่าวๆให้ฟังได้ไหมคะ?

พี่ป้อม: คณะที่พี่เรียนอยู่คือคณะ Information Management ค่ะ ก็จะมีชื่อเสียงทางด้านการจัดการสารสนเทศ โดยเฉพาะวิชาเอกสารสนเทศศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับในระดับต้นๆของประเทศ เนื้อหาการวิจัย อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆของที่นี่ค่อนข้างทันสมัยและมีความพร้อมมากค่ะ อย่างเช่นช่วงที่ผ่านมาคณะเพิ่งจัดซื้อเครื่อง Eye-tracking กับเครื่อง Electroencephalography EEG มาเพื่อศึกษาวิจัยในสายของตัวเอง อย่าง Eye-tracking ก็จะใช้ศึกษาทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เว็บไซต์ของผู้ใช้ ดูการเคลื่อนไหวของสายตาและการขยายของรูม่านตาว่าในขณะที่เขากำลังเปิดหน้าเพจอยู่นั้น เขาสนใจข้อมูลส่วนใดของเพจมากที่สุดค่ะ

Admin: ค่ะ สาขาที่พี่ป้อมเรียนมีกี่หน่วยกิตคะ

พี่ป้อม: 12 หน่วยกิตค่ะ

Admin: ทราบมาว่าคณะนี้มีเงื่อนไขการจบการศึกษาที่สูงพอสมควรใช่ไหมคะ

พี่ป้อม: ใช่เลยค่ะ คณะนี้มีเงื่อนไขการจบสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยกำหนดว่าปริญญาเอกจะต้องตีพิมพ์บทความอย่างน้อย 2 ฉบับ (CSSCI, SCI, EI) แต่ของคณะนี้คือกำหนดว่าอย่างน้อยต้องตีพิมพ์ 4 ฉบับ ถึงจะผ่านค่ะ

pom2

Admin: โห….. ถือว่าโหดมากนะคะ

พี่ป้อม: ใช่ค่ะโหดมาก แต่ก็ยังโชคดีค่ะ ที่คณะยืดหยุ่นให้กับนักศึกษาต่างชาติ สามารถตีพิมพ์ 2 ฉบับเทียบเท่ากับมาตรฐานของมหาวิทยาลัยได้ค่ะ

Admin: โชคดีจริงๆค่ะ การเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนี้เป็นยังไงบ้างคะ

พี่ป้อม: ที่นี่ก็น่าจะคล้ายๆกับที่อื่นๆนะ ก็เน้นที่การศึกษาค้นคว้ามากกว่าเข้าเรียนในห้อง มีการนำงานวิจัยมาอภิปรายกัน จะว่าไปก็แปลกอยู่อย่างนึงนะ เพราะสาขาที่พี่เรียน ที่ม.อู่ฮั่นมีเปิดสอนอยู่สองคณะ คือคณะ Economics and Management (经济管理学院)Information Management (信息管理学院)ชื่อหลักสูตรเหมือนกันเลย แต่เนื้อหาที่เรียนและแนวทางวิจัยจะแตกต่างกันค่ะ อย่างถ้าเป็นของคณะเศรษฐศาสตร์ก็จะเน้นทางบริหารวิศวกรรมโครงการ ห่วงโซ่อุปทาน หรือด้านโลจิสติกส์แนวๆนี้ค่ะ แต่หลักสูตรที่คณะการจัดการสารสนเทศก็จะเน้นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารสนเทศ เทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ E-Commerce และการจัดการความรู้อะไรแนวๆนี้ค่ะ ซึ่งคณะที่พี่เรียนจบออกมาก็จะได้วุฒิด้าน Ph.D. in Management ค่ะ

Admin: ค่ะ แบบนี้การเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยต่างๆของที่นี่ถือว่าเป็นยังไงบ้างคะ

พี่ป้อม: ก็น่าจะคล้ายๆกับที่มหาวิทยาลัยอื่นนะคะ เข้าผ่านฐานข้อมูลที่ห้องสมุด ก็เข้าได้ทั้งต่างประเทศและของจีนค่ะ

Admin: เล่าถึงอุปสรรคในการเรียนบ้าง?

พี่ป้อม: ขอร่ายยาวไปเลยนะ

Admin: จัดไปเลยค่ะ

พี่ป้อม: สำหรับพี่นะเรื่องแรกคืออุปสรรคด้านภาษา แม้ว่าเมื่อก่อนพี่จะเคยทำงานสอนภาษาไทยให้คนจีนที่เมืองหนานหนิงมณฑลกว่างซี มา 3 ปี แต่พี่มาจีนโดยที่ไม่เคยเรียนภาษาจีนมาก่อนเลย  การเรียนภาษาจีนตอนนั้นจึงเป็นการเรียนด้วยตนเอง เป็นไปแบบครูพักลักจำ ไม่เป็นระบบ เพิ่งจะได้เริ่มมาเรียนภาษาจีนแบบเข้า Class จริง ๆก็ตอนมาอยู่อู่ฮั่น คือ เรียนปรับพื้นฐาน 1ปี  แต่ 1 ปีในการเรียนภาษาจีนมันไม่เพียงพอต่อการเขียนงานในระดับวิชาการ  ทำให้การเขียนงานเป็นไปค่อนข้างช้า  และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก   ปัญหาอีกอย่างตอนเรียนคือ อ.ผู้สอนบางท่านจะพูดภาษาจีนสำเนียงท้องถิ่น บางคนสำเนียงอู่ฮั่น บางคนก็สำเนียงที่อื่น  ซึ่งเราฟังไม่ออกเลย ทำให้เรียนไม่ค่อยเข้าใจ  พอไม่เข้าใจอยากขอสไลด์อาจารย์มาอ่านทบทวน  อาจารย์หลายท่านก็ไม่อนุญาตให้ copy สไลด์ที่ใช้สอน ให้เราใช้มือถือถ่ายรูปสไลด์ที่ท่านสอนเอาเอง

Admin: โห… ขอสไลด์ก็ไม่ได้ด้วย

พี่ป้อม:ใช่ค่ะ ส่วนเรื่องที่สองคือพื้นความรู้วิชาเอกไม่เพียงพอ คือ ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้วตอนสมัครเรียน  พี่สมัครเรียนเอกในสาขา Information Resources Management เพราะตอนป.ตรี และโท  พี่เรียนมาทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์  แต่ไม่รู้ว่าเกิดเหตุขัดข้องอันใด  ทางมหาวิทยาลัยจัดให้พี่มาเรียนเอก Management Science and Engineering  และจะขอเปลี่ยนเอกก็ไม่ให้เปลี่ยน  ภาษาจีนเราเองก็ไม่แข็งแรง จะไปทำเรื่องขอเปลี่ยนสาขาก็ค่อนข้างยุ่งยาก ก็เลยต้องเลยตามเลยค่ะ

Admin: ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งนะคะ

พี่ป้อม: ใช่ พอผ่านจุดนั้นมามันก็ต้องสู้แล้วค่ะ ถึงแม้ว่าการเรียนในสาขานี้จะทำให้ได้รับความรู้อะไรใหม่ ๆ   แต่ด้วยความที่เราไม่มีพื้นฐานเพียงพอ  ทำให้เรียนไม่ค่อยเข้าใจ  บวกกับอุปสรรคทางภาษา  ยิ่งทำให้เรามีปัญหามาก  ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ทำได้อย่างเดียวเลยคือ  ต้องอ่านเยอะ ๆ   ค้นคว้างานวิจัยเยอะ ๆ  ค่ะ

Admin: เรียกว่าเหนื่อยต่อเป็นสองเท่า

พี่ป้อม: ยังไม่จบนะคะ ยังมีเรื่องที่อยากฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ด้วยค่ะ

Admin: เรื่องอะไรคะ?

พี่ป้อม: เรื่องจรรยาบรรณนักวิจัยค่ะ

Admin: ค่ะ

พี่ป้อม: พี่ไม่แน่ใจว่าที่อื่นจะเป็นแบบนี้ไหมนะคะ  แต่จากประสบการณ์ที่พี่เจอคือ  เพื่อนคนจีน (ที่ปรึกษาเดียวกัน) เอาข้อมูลที่พี่ไปเก็บมาจากไทยไปเขียนบทความตีพิมพ์เป็นของเขาเองเลย   ซึ่งก็ทำให้พี่รู้สึกไม่ดีและเสียใจอยู่พอสมควรค่ะ

Admin: เคยได้ยินเรื่องนี้ตอนสัมภาษณ์พี่คนหนึ่งเหมือนกันค่ะ

พี่ป้อม: นั่นสิคะ เรายิ่งรู้สึกอึดอัดที่เราทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะติดที่อ.ที่ปรึกษา และจากเหตุการณ์นี้ทำให้เราต้องระวังเรื่องข้อมูลมากขึ้น เพราะการที่เราจะหาคนที่ไว้ใจได้มาช่วยเราตรวจภาษางานในงานของเราเป็นเรื่องที่ยากมาก   เพราะเราจะต้องส่งงานให้เขาดู  ถ้าคน ๆ นั้นไม่มีจรรยาบรรณพอหรือขาดจิตสำนึก  เราก็จะเสี่ยงมากที่จะโดนขโมยข้อมูลหรือคัดลอกผลงานค่ะ

Admin: เรียกได้ว่าต้องระวังตัวเองทุกฝีก้าวจริงๆ

พี่ป้อม: จริงค่ะ

pom3.jpg

Admin: อยากให้พี่ป้อมเล่าถึงมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นบ้างค่ะ

พี่ป้อม: มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น เป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ Top 10 ของจีน  และได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในจีนค่ะ  ในมหาวิทยาลัยมีภูเขาลั่วเจีย (珞珈山)ที่มีดอกซากุระ  ด้านหลังมอติดทะเลสาบตงหู  มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่คนจีนมักมาเยี่ยมเยียนกัน  โดยเฉพาะในช่วงซากุระบานค่ะ  วันหนึ่งมีคนมาชมซากุระมากถึง 1 แสนคน

Admin: แสนคนเลยเหรอคะ?

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ เยอะมาก ๆ  แทบไม่มีที่เดินเลยทีเดียว  ตอนมาที่นี่ปีแรกพี่ก็ตกตะลึงมากนะ  ไม่คิดว่าคนจะมาเยอะขนาดนี้

Admin: แสดงว่าที่นี่สวยจริงๆ

พี่ป้อม: ก็คิดว่านะ จริง ๆ ดอกซากุระพี่ว่ามีอยู่หลายที่นะในเมืองจีน  แต่สาเหตุที่คนมาชมที่นี่เยอะเพราะว่าได้บรรยากาศของประวัติศาสตร์ด้วย  คือ ซากุระที่นี่จะปลูกอยู่ใกล้กับอาคาร老斋舍 ซึ่งเป็นหอพักชายสร้างขึ้นในปี 1930  มีลักษณะการก่อสร้างผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกับโรมัน  เป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการอนุรักษ์จากรัฐบาลจีนด้วย    ในสมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในจีน  ทหารญี่ปุ่นใช้มหาลัยแห่งนี้เป็นหน่วยรักษาพยาบาลทหารที่ได้รับบาดเจ็บ   และเพื่อเป็นการช่วยลดอาการคิดถึงบ้านของทหารญี่ปุ่นที่รักษาตัวอยู่ที่นี่   ทางญี่ปุ่นจึงได้นำต้นซากุระจากประเทศตัวเองมาปลูกที่ข้าง ๆ 老斋舍 เพื่อสร้างบรรยากาศให้คล้ายกับประเทศญี่ปุ่นค่ะ

Admin: มีความเป็นมานี่เอง จึงเป็นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ

Admin: พูดถึงกิจกรรมยามว่างกันบ้าง?

พี่ป้อม: ทุกวันจันทร์จะไปตีแบดมินตันค่ะ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาท่านชอบตีแบด เลยจัดกิจกรรมให้นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของท่านได้เชื่อสัมพันธ์กันด้วยการไปตีแบด เวลาไปด้วยกันทีนึงก็ราวๆ 15-20 คนได้ค่ะ

Admin: โห อาจารย์น่ารักจังค่ะ

พี่ป้อม: ค่ะ พี่ว่าการได้ออกกำลังกายบ้างมันก็ทำให้จิตใจเราโล่ง สบาย และคลายเครียดคลายกังวลได้บ้างค่ะ นอกจากนี้ถ้าต้องการสมาธิมากๆ พี่ก็จะออกไปถ่ายรูปค่ะ อย่างในมหาวิทยาลัยนี้ถือว่าถ่ายมาทุกซอกทุกมุมแล้วก็ว่าได้

Admin: เก่งจังค่ะ ถ่ายรูปก็ฝึกสมาธิได้

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ เพราะว่าแต่ละรูปมันต้องใช้สมาธินะ เราต้องคิดว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน อยากให้ภาพมันบอกอะไร จะเลือกมุมกล้องแบบไหน จะปรับกล้องอย่างไร และการที่ใจเราได้จดจ่อกับการถ่ายรูป มันทำให้เรานิ่งขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน แต่มันก็จะมีข้อเสียอย่างหนึ่งนะ เพราะถ้าจะถ่ายแบบนี้ก็ต้องปลีกวิเวกออกไปคนเดียว มันจะช่วยให้เราครีเอทภาพถ่ายโดยไม่ต้องกังวลหรือเกรงใจเพื่อนที่ไปด้วยว่าจะรอเรานานแค่ไหน

Admin: จริงค่ะ

พี่ป้อม: นอกจากนี้พี่ก็จะมีไปร่วมกิจกรรมของคณะที่จัดขึ้นทุกปีค่ะ เช่นงานวัฒนธรรมนานาชาติ ก็จะมีออกบูธขายของและมีการแสดงต่าง ๆ ของนักศึกษาต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมอบรมครูอาสาสมัครชาวจีนที่จะไปสอนภาษาจีนในประเทศไทยของฮั่นปั้น (汉办)ค่ะ ซึ่งพี่ก็รับสอนมาได้ 3 ปีแล้วค่ะ นอกจากนี้บางครั้งก็ออกไปเป็นล่ามนอกสถานที่ด้วย

Admin: สุดยอดเลยค่ะ นอกจากเรียนหนักแล้วยังสามารถทำกิจกรรมได้ด้วย

พี่ป้อม: ค่ะ

pom4.jpg

Admin: สุดท้ายแล้วค่ะ พี่ป้อมอยากจะฝากอะไรถึงคนที่จะเข้ามาเรียนต่อปริญญาเอกไหมคะ?

พี่ป้อม: สำหรับพี่นะ การเรียนปริญญาเอกเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความอดทนและความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก ระหว่างทางจะมีความเครียด ความท้อแท้ รู้สึกหมดกำลังใจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับทัศนคติและปรับสภาพจิตใจของตัวเองในช่วงเวลาที่ท้อแท้ให้กลับมาเข้มแข็งเหมือนดังปกติได้เร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องรู้จักหาวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสมกับตัวเอง สร้างกำลังใจให้ตัวเอง คิดบวก ก็จะช่วยให้เราเดินไปสู่จุดหมายที่หวังไว้ได้สำเร็จ และจากประสบการณ์ตรงของพี่เองที่เจอกับอุปสรรคด้านภาษา ก็อยากจะฝากคนที่จะมาเรียนต่อที่จีนว่า ถ้าหากต้องเรียนหลักสูตรที่เป็นภาษาจีนและทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาจีนก็ควรจะเตรียมพื้นฐานภาษาของตนเองให้ดีในระดับหนึ่ง เพราะภาษาดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งจริงๆค่ะ

Admin: ขอบคุณมากๆเลยค่ะพี่ป้อมสำหรับข้อมูลดีๆในวันนี้ ยังไงจีและทีมงานเพจก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่ป้อมด้วยนะคะ

พี่ป้อม: ขอบคุณมากๆค่ะ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับบทสัมภาษณ์ในวันนี้ เราได้เห็นอีกด้านหนึ่งของการเรียนปริญญาเอกที่ต้องฝ่าฝันกับอุปสรรคมากมาย และเป็นเส้นทางที่ไม่ได้เดินง่ายอย่างที่ใครคิด แต่เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเราจึงจะรู้ว่าเรามีความเข้มแข็งมากเพียงใด สำหรับทุกคนบนเส้นทางสายปริญญาเอกนี้ แอดมินและทีมงาน Thai Ph.D. in China ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะในบ้านหลังนี้ พวกเราคือครอบครัวเดียวกัน ^^

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 19 หยี อรชร แซ่จาง Candidate สาขา Public Administration มหาวิทยาลัย Zhejiang University

Ayee3

สวัสดีค่ะ คอลัมน์ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ แอดมินจะขอพาไปทำความรู้จักกับประเทศจีนผ่านมุมมองของหยีนักศึกษาปริญญาเอกสาขา Public Administration ที่ Zhejiang University ที่จะมาเล่าเรื่องราวชีวิตการเรียนของเธอ และมุมมองด้านนโยบายสาธารณะ และภาพรวมกว้างๆของสังคมจีนที่จะทำให้เราเห็นสังคมจีนในอีกมุมหนึ่ง มาทำความรู้จักกับเธอไปพร้อมๆกับบทสัมภาษณ์นี้กันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะหยี

หยี: สวัสดีค่ะจี

Admin: แนะนำตัวด้วยค่ะ

หยี: ค่ะ ชื่อ อรชร แซ่จางค่ะ ตอนนี้เรียนปริญญาเอกสาขา Public Administration อยู่ที่ Zhejiang Universityค่ะ

Admin: จุดสนใจที่ทำให้มาเรียนด้านนี้?

หยี: ตอนป.ตรีเรียนมนุษย์อิ้งที่มช.ค่ะ ส่วนภาษาจีนนี่คือได้มาจากที่บ้าน พอจบตรีก็ไปทำงานหลายที่ ตอนนั้นได้ทำงานที่ Huawei ก็เป็นก้าวแรกที่เราได้รู้จักกับคนจีน ซึ่งเราอยู่ไทยก็ต้องประสานกับ HQ หรือติดต่อกับจีนมากขึ้น ก็เห็นว่าคนจีนนี่มีการพัฒนาตัวเองอยู่นะ ก็ทำมา 3 ปีเราก็รู้สึกว่าเราเรียนภาษามา ระบบความคิดหรือ Logic อะไรในหัวเราหลายๆอย่างอาจจะยังไม่มาก ก็เลยรู้สึกอยากพัฒนาตัวเอง ตอนนั้นคิดว่าถ้าเรียนต่อในสายภาษาอาจจะไม่ได้มีความแตกต่างอะไรมาก ก็เลยหาทุนมาเรียนต่อ ที่จริงตอนป.โททีแรกสมัครด้าน International Business ไปค่ะ แล้วอาจารย์ที่ม.นี้ก็แนะนำสาขานี้มาค่ะ ก็เลยสนใจลองสมัครดู ตอนป.โทหยีได้ทุน Asian Future Leader 亚洲未来领袖 ค่ะ ได้รับการสนับสนุนจากฮ่องกง

Admin: ค่ะ แล้วหลังจากเรียนแล้วเป็นยังไงบ้างคะ

หยี: ก็รู้สึกว่าได้เปิดโลกกว้างขึ้น ได้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีอะไรซับซ้อน และก็อยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา ดังนั้นเราจึงควรที่จะรู้จักกับจีนให้มากขึ้น ให้มันมีความรู้ในหลายๆด้าน แล้วพอเราจบโทก็ยังรู้สึกว่า ตัวเรายังรู้อะไรไม่เยอะ เลยคิดว่าต้องต่อเอกอีกใบค่ะ

Admin: แสดงว่าอันนี้ก็ต่อเนื่องจากปริญญาโทเลย?

หยี: ใช่ค่ะ?

Admin: แล้วตอนป.โทหยีทำเกี่ยวกับเรื่องอะไรคะ?

หยี: ทำเกี่ยวกับเรื่อง Social Capital กับ Political Attitude ค่ะ

Admin: ค่ะ กลับมาที่ป.เอกอีกรอบหนึ่ง อันนี้มีเรียนกี่หน่วยกิตคะ?

หยี: 12 หน่วยค่ะ แต่ว่าถ้าข้ามสายมาต้องเพิ่มอีก 8 หน่วย แต่ถ้ามาสายตรงแบบนี้เลยก็ไม่ต้อง เพราะว่าในสาย Public Ad นี้ก็ยังมีอะไรอย่างอื่นให้เรียนอีกเช่นพวก IR หรือ Social Studyหรืออื่นๆค่ะ

Ayee

Admin: เล่าถึงสาขา Public Ad ของ ZJU?

หยี: Public Ad ของที่ ZJU นี้ถือว่าดีเลยนะ ตั้งมาได้ประมาณ 10 ปีแล้ว ระยะหลังนี้ก็เปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น แนวการสอนที่นี่ก็อิงตามแบบตะวันตกนะคะ แต่ในตัวหลักสูตรอาจจะยังไม่ค่อยอินเตอร์เท่าไหร่ คือยังไงก็ต้องรู้ภาษาจีน แต่ในส่วนของอาจารย์ที่นี่ก็มีความหลากหลายอยู่พอสมควรค่ะ อย่างอาจารย์บางท่านที่จบมาจากอเมริกาท่านก็จะเปิดกว้างหน่อย เวลาเรียนก็จะมีวิจารณ์พวกเหตุการณ์อย่าง 1989 หรือเรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม แต่อาจารย์บางท่านที่จบในจีนก็อาจจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ เป็นพูดในมุมกว้างๆแทนค่ะ แล้วในสายนี้อาจารย์ในสายนี้จะเชี่ยวชาญเรื่อง Local Government มาก การเรียนการวิจารณ์นโยบายพวกนี้จะเยอะ อะไรได้ อะไรไม่ได้ อะไรจริงจัง อะไรไม่ชัดเจน คืออาจารย์จะสอนให้เรารู้จักคิดวิเคราะห์ และทำให้เราเห็นภาพเหล่านี้มากขึ้น แต่ในส่วนของพรรคหรือส่วนกลางนี้เขาจะไม่แตะเท่าไหร่

Admin: ขอถามนอกรอบหน่อยนึง จีนเขาวิจารณ์รัฐได้ด้วยหรอคะ?

หยี: ได้ค่ะ ถ้าเป็นท้องถิ่นไม่เกี่ยวกับรัฐบาลกลางนี้ทำได้

Admin: การแสดงออกในการวิจารณ์ เขาลงหนังสือพิมพ์หรือออกสื่อได้ด้วยหรอ?

หยี: ได้ค่ะ อันนี้สามารถแสดงออกได้ Public Ad เป็นเรื่องที่จับต้องได้ อย่างพวก Innovation หรือ Public Bus เราก็จะเอามาเป็นกรณีศึกษาดูว่ามันใช้ได้จริงไหม มันเกิดประโยชน์อะไรอย่างไร ซึ่งเวลาเรียนเราก็มีไปลงพื้นที่ด้วยค่ะ ก็จะได้เห็นของจริง จากเรื่องจริง อย่างที่ ZJU นี้ก็จะเด่นเรื่อง Local Government ซึ่งอันนี้ก็อาจจะแตกต่างจากที่อื่นๆด้วย

Admin: Scope งานวิจัย Public Ad ของที่ ZJU นี้ครอบคลุมทั่วประเทศไหมคะ?

หยี: พื้นศึกษาวิจัยจะเน้นที่ฝั่ง East มากกว่าค่ะ ซึ่งถ้ามองว่าเป็นข้อจำกัดก็มองได้เหมือนกัน แต่หยีคิดว่าส่วนหนึ่งคือน่าจะเป็นเพราะลักษณะ Political Thinking, Economic แล้วก็ Culture ของแต่ละเมืองมันไม่เหมือนกัน อย่างเราจะเอาข้อสรุปจากนโยบายหรือปัญหาของที่ Zhejiang ไปใช้กับ Guangdong หรือที่เมืองอื่นก็อาจจะไม่ได้ มันไม่สามารถ Apply to all ได้เพราะด้วยปัจจัยความแตกต่างที่กล่าวไป แล้วก็ยังมีความแตกต่างเรื่องของภาษาถิ่นด้วย เวลาเราลงพื้นที่ถ้าไปต่างถิ่นไปเมืองอื่นๆ ผู้ให้ข้อมูลก็จะใช้ภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ถือเป็นข้อจำกัดในการวิจัยด้วยเช่นกัน แต่อันที่จริงเวลาเราศึกษาวิจัยเราก็สามารถอ่านข้อมูลจากพื้นที่อื่นๆประกอบ เพื่อศึกษาดูเป็นกรณีได้ค่ะ

Admin: แล้วแบบนี้ที่เราศึกษามา ไทยกับจีนเองก็เปรียบเทียบกันได้ไหมคะ?

หยี: ในส่วนของ Public Ad นะเราคิดว่าไม่ได้ ไม่น่าจะได้เลย เพราะตั้งแต่โครงสร้างลงมาเลยมันก็ไม่เหมือนกันค่ะ ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น การอนุมัติงบประมาณ การจัดเก็บภาษี มันก็ไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าเทียบกับขนาดพื้นที่ Local Government เขาอาจเทียบกับประเทศเราทั้งประเทศ แต่ถ้าเป็นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน (政商关系)หรือรัฐกับสังคม(政社关系)ตัวนี้น่าจะศึกษาเทียบเคียงได้

Admin: จริงเนอะ มณฑลเดียวนี่ก็มีประชากรเข้าไปกี่พันล้านแล้ว?

หยี: ใช่ค่ะ แต่อันที่จริงเราคิดว่าเรื่องการท่องเที่ยวนี่ จีนน่าจะมาเรียนรู้จากเราไปบ้างนะ เรื่อง management หรือการจัดการ การฝึกคนอะไรแบบนี้

Admin: ใช่ค่ะ

หยี: แต่ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจ เรื่องเงินนี่คิดว่าไทยควรจะศึกษาจีนให้มากขึ้น

Admin: จริงค่ะ

Ayee2

หยี: ใช่ แล้วปีหลังๆมานี้จีนเองก็ให้ความสำคัญกับภาคสังคมมากขึ้น จะเห็นได้จากการประชุมพรรคใหญ่ช่วงหลังที่ผ่านมาที่เขาจะเริ่มมีการพูดถึงการจัดการสังคมมากขึ้น ถ้าเราสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่กล้าคิดกล้าทดลอง เขาจะทดลองทำอะไรไปเรื่อยๆ เช่นการเปิดทดลองเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายๆพื้นที่ ก็เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง แล้วที่สำคัญคือจีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการทำวิจัย จะเห็นได้ว่าเขาให้งบประมาณและให้ความสำคัญกับการทำ research ค่อนข้างมาก ซึ่งมันก็ได้วนกลับมาพัฒนาประเทศเขา เขาจะมีการทบทวนข้อมูลเสมอ จีนเก่งด้านเศรษฐกิจมากเกินไปจนด้านสังคมมันตามไม่ทัน พอตอนนี้ก็เลยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางสังคม อย่างเรื่อง Pollution ที่จีนตระหนักและให้ความสำคัญในเราอาจจะเห็นว่าเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆมันก็สอดคล้องและเป็นผลโดยตรงกับสังคม

Admin: จริงค่ะ อย่างตอนนี้จีนให้ความสำคัญกับภาคสังคมมากขึ้น แต่ในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐของประชาชนนี้ถือว่าทั่วถึงไหม?

หยี: อันนี้ถ้าว่ากันตามตรง ข้อมูลบางส่วนก็เข้าถึงได้ยากหรือไม่ได้เลยจริงๆนะ

Admin: แล้วความรู้สึกของภาคประชาชนที่มีต่อรัฐ?

หยี: คนจีนให้ความสำคัญและเคารพพรรคหรือส่วนกลางมากนะ ถ้าถามเขาเขาก็จะเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลมากเลย

Admin: แสดงว่าภาพที่คนนอกมองเข้ามาอาจจะเห็นว่าจีนมีอะไรหลายอย่างที่อาจจะไม่ดี อาจจะไม่ชัดเจน ดูแล้วยังเป็นปัญหา แต่ถ้ามองจากคนภายในประเทศที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายนี้ ประชาชนเขาค่อนข้างพอใจและเชื่อมั่นในการดำเนินงานของรัฐพอสมควร

หยี: ใช่ค่ะ คือคนภายนอกอาจจะยังติดภาพว่าจีนเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเผด็จการ คือต้องบอกว่านั่นมันเมื่อนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันจีนเปิดกว้างมากกว่านั้นแล้ว อย่างจีนเขากล้าที่จะไปศึกษาชาติอื่น ไปศึกษาเรื่องนั้นทั้งระบบเลย แล้วก็ดูว่าอันไหนใช้ได้อันไหนใช้ไม่ได้ แล้วก็จะนำมาปรับใช้กับการพัฒนาของเขาเองค่ะ

Admin: ค่ะ แล้วกิจกรรมยามว่างนี้ หยีทำอะไร?

หยี: Taobao ค่ะ

Admin: 555555

หยี:  ยิ่งได้ภาษาจีนด้วยยิ่งสนุกใหญ่เลยค่ะ

Admin: จริงค่ะ นี่ก็ถือเป็นการสังเกตและสำรวจตลาดอย่างหนึ่งด้วย

หยี: 555 ใช่ค่ะ

Admin: วันนี้ขอบคุณหยีมากๆเลยค่ะ ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับเรา

หยี: ยินดีค่ะ

Ayee4

จบไปแล้วกับบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้นะคะ สัปดาห์หน้าเราจะพาไปพบกับ Candidate คนไหน ติดตามเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นได้ที่นี่ วันนี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 18 หวาน สุภินดา รัตนตั้งตระกูล Candidate สาขาคติชนวิทยาและศิลปะวรรณกรรม (Folklore in Literature and Arts) คณะ International College of Chinese Studies, East China Normal University

whan3

สวัสดีค่ะ คอลัมน์ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ แอดมินขอเปิดตัวรุ่นน้องทั้งสมัยปริญญาตรีจนถึงปัจจุบัน น้องหวาน สุภินดา รัตนตั้งตระกูล Ph.D. Candidate สาขาคติชนวิทยาและศิลปะวรรณกรรม และเนื่องจากคนต้นเรื่องกับแอดมินมีที่ปรึกษาคนเดียวกันคือศ.เฉินฉินเจี้ยน 陈勤建 (Qinjian Chen, tenured professor at East China Normal University) อีกทั้งแอดมินกับหวานยังมีอายุเท่ากัน สรรพนามที่เรียกกันบางครั้งจึงเหมือนเพื่อนมากกว่ารุ่นพี่รุ่นน้อง ดังนั้นบทสนทนาในครั้งนี้จึงเขียนออกมาในลักษณะเป็นกันเองเหมือนชวนคุยกันมากกว่าบทอื่นๆนะคะ (เช่นอาจารย์ที่ปรึกษาพวกเราเรียกกันเองว่า “พ่อ” ซึ่งในบทสัมภาษณ์ก็จะคงคำเรียกนี้ไว้) และเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเรามาทำความรู้จักกับการเรียนด้านคติชนวิทยาในจีนไปพร้อมๆกับมุมมองด้านการใช้ชีวิต การแบ่งเวลา รวมถึงข้อคิดดีๆจากน้องหวานกันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีจ้าหวาน

หวาน: สวัสดีพี่จี

Admin: เป็นไงบ้างช่วงนี้?

หวาน: ก็เรื่อยๆ ช่วงนี้ก็อยู่ห้องสมุดตลอด ไม่ค่อยได้เปิดมือถือเท่าไหร่ จะเปิดเล่นเฉพาะตอนพักกลางวัน

Admin: ห้องสมุดคนเยอะไหมตอนนี้?

หวาน: โห…ไปต่อแถวตั้งแต่ห้องสมุดยังไม่เปิดอะ

Admin: เฮ้ย…ตอนนี้ไม่ใช่ช่วงสอบนะ?!?

หวาน: ใช่…คนจีนขยันจะตายไปพี่จี

Admin: อืม…ก็จริงแฮะ มา เข้าเรื่องดีกว่า ก่อนหน้าที่หวานจะมาเรียนคติชนวิทยา หวานเรียนอะไรมาก่อนนะคะ?

หวาน: ป.ตรีธรรมศาสตร์เอกจีน แล้วพอป.โทก็ได้ทุนรัฐบาลจีนมาเรียนต่อโทที่ Yunnan Normal University(云南师范大学)ตอนนั้นเรียนภาษาถิ่นค่ะ

whan1
ถ่ายกับอ.ที่ปรึกษาและเพื่อนร่วมชั้นชาวจีนอีก 2 คน

Admin: เพราะเรียนภาษาถิ่นเลยสนใจคติชน?

หวาน: ใช่ค่ะ คือตอนทำป.โทก็มีลงพื้นที่ด้วยค่ะ ตอนนั้นหวานไปลงพื้นที่ที่อ.ฝาง จ.เชียงราย ก็ไปเก็บข้อมูลอยู่สองอาทิตย์ ทำสัมภาษณ์ บันทึกข้อมูล แล้วเราก็รู้สึกว่าคนเรียนสายภาษามาแล้วอยากรู้อะไรให้มันลึกขึ้นก็ควรจะต้องมาต่อด้านวัฒนธรรม เลยรู้สึกสนใจเรียนต่อคติชน พอได้มาที่นี่ก็รู้สึกไม่ผิดหวังเลยจริงๆ

Admin: ตอนนี้หวานปีสามแล้วใช่ไหมคะ?

หวาน: ใช่ค่ะ ปีสาม

Admin: หัวข้อวิจัยเราคืออะไรแล้วนะ?

หวาน: เอาชื่อไป 2 ภาษาเลยละกันค่ะ หัวข้อของหวานคือ 《泰国东北部民间那伽艺能研究》 ค่ะ ภาษาไทยหวานแปลว่า “ศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพญานาคของพื้นที่ภาคอีสานในประเทศไทย”

Admin: เป็นหัวข้อน่าสนใจมากๆ แล้วของหวานมีไปลงพื้นที่ที่ไหนบ้างคะ?

หวาน: ก็มีที่โพนพิสัย หนองคายค่ะ แล้วก็ที่จังหวัดอุดร ไปลงพื้นที่มาสองครั้งแล้วค่ะ

Admin: เป็นยังไงบ้างคะ?

หวาน: ก็ดีนะ อย่างอันนี้หวานเน้นไปที่พิธีกรรมก็ต้องอาศัยศึกษาให้เยอะหน่อย มีกลับมาดูคลิปเพิ่มเติมบ้างอะไรบ้าง แล้วอีกอย่างเรื่องพญานาคในจีนก็ถือเป็นเรื่องใหม่ด้วย

Admin: อย่างนี้เวลาค้นหาข้อมูลทำยังไงอะ?

หวาน: โห อันนี้คือความยากเลยล่ะ เพราะแหล่งข้อมูลหลักเรื่องนี้จะอยู่ที่ญี่ปุ่นกับไต้หวัน เรื่อง 艺能 ในจีนก็ถือเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่ค่อยมีคนทำ หรือหนังสือในห้องสมุดของมอ.เราที่ค้นหาได้ก็เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ก็อาศัยว่าเราเรียนจีนมาเนอะ ก็พอจะแกะๆ ถอดๆความเอาได้บ้าง แต่ว่าหลักๆเลยคือจะใช้ฐานข้อมูลที่ไต้หวัน เช่นเว็บห้องสมุดไต้หวัน ก็มีไหว้วานเพื่อนที่เรียนอยู่ที่นั่นช่วยค้นข้อมูลให้บ้างค่ะ

Dad
Qinjian Chen, tenured professor at East China Normal University

Admin: พูดถึงคติชนวิทยาบ้าง อย่างเราสองคนถือว่ามีที่ปรึกษาคนเดียวกัน แต่จัดว่าเรียนกันคนละสาขา จบมาก็ได้วุฒิไม่เหมือนกันด้วย?

หวาน: ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่อย่างหนึ่งเช่นกันนะ อย่างที่ ECNU มีเรียนด้านคติชนวิทยาอยู่ 2 คณะ อันแรกก็อยู่ใน对外汉语学院 (International College of Chinese Study) ซึ่งจัดอยู่ในภาควิชา汉语国际教育系(Dept. of Teaching Chinese as a Foreign Language) และอีกอันหนึ่งจะอยู่ในคณะ 社会发展学院 (School of Social Development) ซึ่งจะเรียนที่วิทยาเขตหมิ่นหาง (闵行)อย่างคติชนของคณะเราจะแบ่งออกเป็น 2 สาขาเปิดสลับปีกันคือสาขาคติชนวิทยา (民俗学Folklore) กับ คติชนวิทยาและศิลปะวรรณกรรม (文艺民俗学Folklore in Literature and Arts) อย่างที่หวานเรียนอยู่ก็จะเอาคติชนเป็นพื้นฐาน แล้วก็เอาศิลปะ วรรณกรรม ละคร  ดนตรี อาหาร หัตถกรรมอะไรพวกนี้มารวม ก็ถือเป็นศาสตร์ที่คาบเกี่ยวกับหลายๆด้าน แล้วก็จะเน้นไปที่พิธีกรรม ดูว่ามันสอดแทรกอะไรบ้าง แต่ก็น่าเสียดายที่ตอนนี้พ่อ (อ.ที่ปรึกษา) ไม่รับลูกศิษย์แล้ว ถ้าใครสนใจจะมาเรียนคติชนที่มหาลัยนี้ก็อาจจะต้องไปไปที่คณะ社会发展学院 แทนค่ะ

Admin: น่าเสียดายเหมือนกันเนอะ

หวาน: ใช่ แต่พ่อก็อายุเยอะแล้วนะ 70 แล้ว ที่จริงการได้มาเรียนกับพ่อถือว่าโชคดีมากๆ เพราะพ่อถือว่าเป็นตัวพ่อด้านคติชนวิทยาจริงๆ

Admin: ใช่เลย ถือว่าเราโชคดีมากจริงๆ ปัจจุบันหนังสือที่พ่อเขียน 中国民俗学会 (China Folklore Society, CFS) ยอมรับให้เป็นตำราเรียนพื้นฐานด้านคติชนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยนะ

หวาน: หรือสาขาที่หวานเรียน พ่อก็เป็นคนตั้งขึ้นด้วย

Admin: จริงค่ะ

Admin: ใช่เลย สมัยที่พี่ยังเรียนอยู่ พ่อจะชอบชงชาไปด้วยเวลาเรียน ทั้งๆที่ก็มีเรียนกันอยู่สองคนกับคนจีน แต่มันทำให้บรรยากาศเหมือนมานั่งจิบชายามเช้า ฟังเรื่องเล่าจริงๆ

หวาน: ใช่ค่ะ

Admin: หลังจากอดหลับอดนอนอ่านงานมาทั้งคืน

หวาน: 555 ใช่

whan4
การแสดงคุนฉวี่

Admin: แล้วรุ่นหวานมีไปเรียนนอกสถานที่ที่ไหนไหมคะ?

หวาน: มีค่ะ รุ่นหวานพ่อพาไปซูโจว ไปดูคุนฉวี่ 昆曲 แบบร้องสด ก็เหมือนโรงเตี๊ยมในหนังจีน เราเข้าไปก็จะมีคนร้องคนแสดงอยู่ตรงกลางสองคน มีคนหนึ่งเล่นผีผา อีกคนหนึ่งร้อง แล้วเมนูที่โต๊ะอาหารเราจริงๆแล้วมันคือเพลงที่เราเรียก มีราคาตั้งแต่ 80-200 หยวน คืออยากฟังเพลงไหนก็เรียกชื่อเมนูนั้น แล้วผู้แสดงก็จะเล่นตามที่เราสั่งไป

Admin: เรียกว่าลงไปเรียนในสถานที่จริง เห็นของจริง

หวาน: ใช่เลย แล้วของพี่จีมีไปลงที่ไหนนะ

Admin: ถ้าในเซี่ยงไฮ้ก็มี 七宝 (ชีเป่า) กับ 三塘 (ซานถัง) แล้วก็มีไปลงพื้นที่ตอนที่เรียน Intangible Cultural Heritage ที่ 温州泰顺 (เวินโจวไท่ซุ่น) ส่วนที่เหลือก็ไปเก็บข้อมูลวิจัยเองในเขต浙江 (เจ้อเจียง) ที่เมือง 绍兴 (เซ่าซิง) 宁波 (หนิงโป) 余姚 (อวี๋เหยา) แล้วก็ 杭州 (หางโจว) ประมาณนี้

หวาน: เยอะเนอะ

Admin: อืม เราเป็นคนเยอะ 555

หวาน:  555 ตลอดอะ

Admin: ต่อๆ เธอว่าคติชนวิทยามันคืออะไร?

หวาน: มันเป็นศาสตร์ที่ให้อิสระทางความคิดในการมองสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากด้านภาษาตรงที่ภาษาจะมีกรอบมีเกณฑ์มีกฎของมัน แต่คติชนจะให้อิสระทางความคิด ให้เราใช้เหตุผลว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเป็นแบบนี้

Admin: ทำให้เข้าใจมิติของคน?

หวาน: ใช่ เข้าใจมากขึ้น อย่างพอเราเรียนคติชนจีน หวานก็มีเชื้อจีนใช่มะ ก็ทำให้ยิ่งรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมจีนมากขึ้น อย่างปัจจุบันนี้คนไทยที่เรียนหรือใช้ชีวิตในจีนมักจะชอบพูดถึงคนจีนในทำนองต่อว่า เช่นทำไมคนจีนเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้าง ทำไมคนจีนถึงยังมีนิสัยถ่มน้ำลาย ทำไมเสียงดังในที่สาธารณะ คืออันนี้ก็เป็นข้อเสียที่เราเองก็ไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบ แต่พอมาเรียนคติชน เราได้เห็นความเป็นไปของสังคมและผู้คนมากขึ้น นึกถึงตอนปฏิวัติในตอน 1949 สิ คนจีนส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีการศึกษา กินไม่อิ่ม ท้องร้อง คนไม่มีเวลามานั่งคิดหรอกว่าฉันจะต้องสุภาพ ฉันจะต้องมีมารยาท ฉันจะต้องเผื่อแผ่ ลำพังแค่ห่วงปากท้องตัวเองก็แย่อยู่แล้ว แล้วจากปีปฏิวัติมาจนทุกวันนี้ปี 2017 พี่จีเห็นไหมว่าเวลามันสั้นมาก

Admin: จริงค่ะ

หวาน: แต่จีนโตเร็วมากๆ ดูจาก 高铁 (รถไฟความเร็วสูง) หรือ 地铁 (รถไฟใต้ดิน) ในเซี่ยงไฮ้สิมากันแบบพรวดๆ ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง ทุกอย่างมันรวดเร็ว ตึก ห้างร้าน ธุรกิจ หรืออย่างปัจจุบันการใช้เงินผ่านมือถือ คือมันโตเร็วมาก แต่คนยังตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงยังหลงเหลือให้เราได้เห็นกัน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ รับรู้ถึงความเป็นมาของมัน เราจะเข้าใจจีนมากขึ้น หวานว่าคนเราต้องอยู่ด้วยความเข้าใจกัน

Admin: จำได้ว่าสมัยเรียนป.โทพ่อเคยพูดคำนึงว่า 文学就是人学,而民俗学就生活相。(ศึกษาวรรณกรรมก็คือศึกษาเรื่องราวของคน และการศึกษาเรื่องคติชน ก็คือศึกษาเรื่องราวของชีวิตและสภาพความเป็นไป)

หวาน: ใช่ค่ะ คือหวานสังเกตว่าคนเราชอบมองแต่ข้อเสียของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหมือนกับคนที่รู้จักจีน เรียนจีน แต่ก็กระแนะกระแหน เหน็บแนมหรือว่าจีนต่างๆ นานา แต่ไม่ค่อยมีใครมองข้อดีของเขา เช่นที่จีนห้องสมุดยังไม่ทันเปิดคนจีนก็ไปต่อแถวรอเข้าห้องสมุด ไม่ต้องรอเวลาสอบ คือจะบอกว่ามันเป็นความขยันของเขาไหม ส่วนหนึ่งอาจจะใช่ แต่หวานว่ามันเป็นความเคยชินของเขาด้วย

Admin: จริงนะ ตอนสมัยที่พี่ไปสอนหนังสือที่ CCIT ที่เมืองฉางโจว 7 โมงเช้านี้นักเรียนจีนเต็มโรงอาหารแล้ว เขาตื่นกันเช้ามาก ลองคิดดูว่าถ้าคนในเจเนอเรชั่นนี้เป็นแบบนี้ อนาคตข้างหน้าของจีนจะเป็นแบบไหน

 

book
ตำราเรียนคติชนวิทยาที่แต่งโดย ศ. Qinjian Chen

หวาน: ใช่ บางครั้งเราควรมองโลกให้เห็นให้เป็นอย่างที่มันเป็น เหมือนเหรียญที่มันมีสองด้าน ส่วนคติชน หวานว่าเอกนี้เป็นเอกเปิดโลกนะ ทำให้เรารู้จักมองอะไรได้กว้างขึ้น มันทำให้เราได้เห็นว่าบนโลกนี้ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ เช่นเรื่องความเชื่อ คนที่ไม่เชื่อก็จะมองว่าเรางมงาย แต่ถ้าเราลงไปศึกษาจริงๆ เราจะเห็นว่าที่จริงแล้ว การมีอยู่ของมันนี้มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในพื้นถิ่น คือมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียของมัน แต่ขึ้นอยู่กับคนว่าจะมองมันในมุมไหน

Admin: ใช่ พี่คิดว่าคนที่ผ่านการเรียนคติชนมาแล้วควรเข้าใจโลกมากขึ้น

หวาน: คือหวานรู้สึกว่าสังคมเราสมัยนี้คนเก่งเพิ่มขึ้นทุกปี คนมาเรียนปริญญาโทปริญญาเอกกันเยอะขึ้น แต่ทำไมสังคมเรามันกลับแย่ลง ทำไมสีดำในสังคมเรามันเยอะจัง หวานว่าคนไม่ดีไม่น่ากลัว แต่คนที่เก่งแล้วไม่ดีต่างหากที่น่ากลัว

Admin: ก็จริง แต่พอเราบอกใครว่าเรียนคติชน หลายคนมักจะโยงเราเข้ากับปรัชญามากกว่านะ

หวาน: แต่หวานว่าคติชนมันต่างจากปรัชญานะ ตรงที่มันเป็นรูปธรรม มองเห็นได้ สัมผัสได้ ในขณะที่ปรัชญาเราอาจเอาแค่คำพูดบางประโยคหรือแนวคิดบางอย่างมาตีความ ซึ่งมันก็สามารถตีความไปได้ร้อยแบบแล้วแต่มุมมอง

Admin: อืม นึกถึงตอนนั่งเรียนวิชาปรัชญาด้วยกันเนอะ

หวาน: 555

Admin: นอกจากจะมีลงพื้นหรือเรียนนอกสถานที่แล้ว การเรียนคติชนในจีนเป็นยังไงบ้าง

หวาน: เรื่องการเรียนทั่วไปก็คิดว่าน่าจะคล้ายๆกับที่อื่น หลักๆเราก็ไปอ่านงาน เอามาถกกันในห้อง แล้วพอถึงเวลาพ่อก็จะพาลงพื้นที่ไปดูนั่นดูนี่

Admin: แนวคิดกับทฤษฎีล่ะ

หวาน: หวานว่าก็ผสมกันนะ ทั้งของจีนและของตะวันตกของญี่ปุ่น อย่างของหวานเป็นเอกที่พ่อเปิด ตอนเรียนก็อ่านงานของพ่อเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็อ่านเพิ่มเติมในทฤษฎีเกี่ยวกับอื่นๆประกอบบ้าง คือคติชนมันเป็นศาสตร์ที่กว้าง จับได้หลายเรื่อง อย่างตอนนี้เรื่อง Intangible Cultural Heritage ที่จีนก็ให้ความสนใจมากทีเดียว

whan2

Admin: แล้วนอกจากเรียน ไปห้องสมุดแล้ว เวลาว่างหวานชอบทำอะไรคะ?

หวาน: ทำกับข้าวค่ะ

Admin: 555 มิน่าล่ะปกติเจอตัวหวานได้ที่ห้องครัวเกือบทุกเช้าเลย

หวาน: 555 หวานว่าการทำกับข้าวมันก็เหมือนการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง แล้วเหมือนที่บ้านหวานทุกคนก็ทำกับข้าวด้วยมั้ง ก็เลยชอบทำมาตั้งแต่เด็กๆละ

Admin: แล้วนอกจากทำกับข้าวแล้ว หวานยังเป็นศูนย์รวมของการรับบริจาคด้วย

หวาน: 555 ใช่แล้ว คือหวานก็เคยไปลงพื้นที่เนอะ ก็เห็นอะไรมาบ้าง เลยคิดว่าการได้ให้ ได้แบ่งปันมันเป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้มี อย่างหวานก็จะรวมของบริจาคของน้องๆพี่ๆเอาไว้ พอได้จำนวนเยอะๆแล้วก็จะแพ็คส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ คือส่วนหนึ่งหวานก็รู้สึกว่าเราได้รับโอกาสดีๆแบบนี้ในการมาเรียนจากรัฐบาลจีน หอพักฟรี มีเงินเดือน มีที่หลับนอน มีที่เรียน เราได้รับโอกาสมา เราก็ควรที่จะตอบแทนอะไรดีๆเหล่านี้ให้กับเขาบ้าง

Admin: สุดยอดเลย ข้อสุดท้ายละ อยากฝากอะไรไว้ให้คนที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ไหม?

หวาน: อันแรกฝากถึงคนที่สนใจด้านวัฒนธรรมและภาษาจีน หวานคิดว่าคติชนวิทยานี้เป็นตัวเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง อันที่สองก็ฝากถึงคนที่กำลังเรียนปริญญาเอก ไม่ว่าจะเรียนสายอะไรก็ตาม ทุกคนเรียนหนังสือโดยเฉพาะช่วงเขียนวิทยานิพนธ์ก็อย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ ทำงานเก่งแล้วก็ต้องรู้จักรักตัวเองด้วย เพราะการเรียนปริญญาเอกไม่ใช่ทุกอย่างของโลกใบนี้ เราจะต้องประสบความสำเร็จในแบบที่สุขภาพแข็งแรง คือทุกคนมีเวลา 24 ชม.เท่ากัน เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทอง ถ้าจัดสรรให้ดีบวกกับมีระเบียบวินัยในตารางเวลาชีวิตของทุกวันก็สำเร็จแน่นอน

Admin: กราบบบ…

หวาน: เดี๋ยวพี่จีแกไม่ต้องกราบ ฟังต่อ

Admin: 555 เคๆ

หวาน: คนเรามันต้องรู้จักให้อภัยตัวเองบ้างเวลาที่ทำไม่ได้แบบที่วางเป้าไว้ ที่เราเข้มงวดกับตัวเองมันเป็นเพราะเราใจร้อน คือเราต้องรู้ว่าทุกอย่างมันต้องใช้เวลา อย่างไอน์สไตน์ไม่ได้ทำทดลองหรือคิดทฤษฎีได้ภายในวันเดียว มันต้องใจเย็นๆ ให้เวลากับมัน อะไรที่ทำไม่ได้ก็อย่าโทษตัวเอง ต้องพยายามต่อไป คิดว่าโชคดีแค่ไหนที่เราได้มาเรียนที่นี่ ทุกวันที่เขียนวิทยานิพนธ์อย่าคิดว่าตัวเองกำลังทำงานวิจัยเคร่งเครียด ให้คิดว่าเรากำลังจะเล่าเรื่องที่น่าสนใจให้คนอื่นฟัง

Admin: จริง กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว

หวาน: เออพี่จี เสาร์อาทิตย์นี้หวานจะไปตลาดใหญ่ จะเอาอะไรปะ?

Admin: ฮะ.. เอ่อ… ไม่เป็นไร รอบนี้เราสั่งของสดจาก 饿了么 (Eleme) มาละ ขอบใจมาก

หวาน: โอเค ดีๆล่ะพี่จี ไม่สบายก็พักบ้างอะไรบ้าง

Admin: Thank you

หวาน: ลุ่นเหวิน (วิทยานิพนธ์) ก็สู้ๆนะพี่

Admin: เฮ้อ…….. ##&#$$**==##!!

หวาน: พอเลยแก หยุดเวิ่นเว้อ

Admin: ง่าาา!!!!

หวาน: สู้ๆอะ โค้งสุดท้ายแล้ว

Admin: ขอบคุณง้าบ หวานก็เช่นกันนะง้าบ

 

จบไปแล้วสำหรับบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้นะคะ สำหรับผู้ที่สนใจกำลังหาแนวเรียนต่อสายคติชนวิทยาในประเทศจีน นอกจากที่ 华东师范大学 (East China Normal University) แล้ว ก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในสาขานี้เช่นกันอย่าง 北京师范大学 (Beijing Normal University) 复旦大学 (Fudan University) 中山大学 (Sun Yat-sen University) 山东大学 (Shandong University) หรือที่中央民族大学 (Minzu University of China) เป็นต้น สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ CFS http://www.chinesefolklore.org.cn/ ได้นะคะ

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 17 อ.ดร.คัมภีร์ พ่วงทอง อาจารย์ประจำระดับบัณฑิตศึกษา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สวัสดีค่ะทุกเย็นวันศุกร์เรากลับมาพบกับคอลัมน์ “ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกร” กันอีกครั้งนะคะ สัปดาห์นี้เราจะพาไปรู้จักกับดร.คัมภีร์ ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) สาขาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำระดับบัณฑิตศึกษา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรามาตามติดการเรียนวิศวะในประเทศจีนไปพร้อมๆกับเรื่องราวของพี่คัมภีร์กันเลยค่ะ

1 (1)

Admin: สวัสดีค่ะพี่คัมภีร์

พี่คัมภีร์: สวัสดีครับน้องจี

Admin: แนะนำตัวด้วยค่ะ

พี่คัมภีร์: ครับ ผมชื่อ คัมภีร์ พ่วงทอง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยถงจี้เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 ที่ผ่านมาครับ

Admin:ตอนที่พี่เรียนอยู่พี่คัมภีร์ทำวิจัยเกี่ยวกับอะไรคะ?

พี่คัมภีร์: ตอนที่เรียนปริญญาเอกผมอยู่ในสถาบัน Institute of Waste Treatment and Reclamation (IWTR) ครับ งานวิจัยจะเกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียโดยในส่วนของผมนั้นจะเน้นการนำเถ้า (Ash) ที่ได้จากกระบวนการ Thermal treatment มาศึกษา/วิเคราะห์ทางด้านกายภาพ-เคมี, ทดสอบ Leaching, ทดสอบทางพิษวิทยา (แบคทีเรียและเมล็ดพืช) และการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ในระยะยาว) เมื่อนำเถ้าไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆเช่น เป็นวัสดุก่อสร้าง, ทางการเกษตรหรืออื่นๆครับ

Admin: เรื่อง Course Work กับหน่วยกิต?

พี่คัมภีร์: ปริญญาเอกที่นี่ 15 หน่วยกิตครับ คิดว่าน่าจะมีความคล้ายคลึงกันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆโดยมี Coursework ในปีแรก ส่วนปีที่ 2 จะต้องสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ให้ผ่าน ระยะเวลาในการเรียนตามหลักสูตรคือ 3 ปี โดยมีเงื่อนไขการจบที่แตกต่างกัน ตามแต่ที่คณะนั้นๆเป็นผู้กำหนดครับ

Admin:ตอนที่พี่เรียนเป็นหลักสูตรภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษคะ?

พี่คัมภีร์: ภาษาจีนครับ

Admin: แบบนี้ก็ต้องเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาจีนด้วยหรือเปล่าคะ?

พี่คัมภีร์: วิทยานิพนธ์ใช้ภาษาอังกฤษครับ ตอนสอบนำเสนอป้องกันวิทยานิพนธ์ก็เป็นภาษาอังกฤษเช่นกันครับ

Admin: แสดงว่าแม้จะเป็นหลักสูตรภาษาจีน ก็ยังสามารถอนุโลมให้ใช้ภาษาอังกฤษได้ใช่ไหมคะ

พี่คัมภีร์: น่าจะขึ้นกับอาจารย์ที่ปรึกษาและทางคณะด้วยครับ เพราะปริญญาเอกวิชาเรียนค่อนข้างน้อย เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่ถ้าเป็นน้องป.ตรีที่เรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ก็ใช้ภาษาจีน 100% เหมือนนักศึกษาจีนเลยครับ การเขียนวิทยานิพนธ์ เราก็สามารถเลือกได้ครับว่าจะเขียนเป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ แต่ในส่วนของเปเปอร์ก็ใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้วครับ

3

Admin: อุปสรรค์และปัญหา?

พี่คัมภีร์: แน่นอนว่าเป็นภาษาโดยเฉพาะภาษาจีนครับ ต้องยอมรับว่าการมาเรียนที่ประเทศจีน ชีวิตจะดีหรือยากนั้นอยู่ที่ระดับภาษาจีนของเราทั้งในเรื่องการดำรงชีวิตและการเรียนเพราะถึงแม้ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเพียงใด การสื่อสารทั้งกับเพื่อนในแล็ป อาจารย์ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นเป็นอย่างมากที่จะต้องได้ภาษาจีนในระดับหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องก็คือวัฒนธรรมในการเรียนทั้งระบบของประเทศจีนที่ค่อนข้างตึงและเข้มงวดทั้งเรื่องวินัยและความเข้มข้นในเรื่องที่เราวิจัย (ส่วนนี้ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยอื่นก็เช่นเดียวกัน)

Admin: ค่ะ ที่มหาลัยของหนูก็เป็น ตารางเวลาค่อนข้างตึงและเข้มงวดพอสมควร

พี่คัมภีร์: ครับ

Admin: แล้วแบบนี้พี่คัมภีร์แก้ปัญหายังไงคะ

พี่คัมภีร์: ในส่วนของการแก้ปัญหาผมว่าก็น่าจะเหมือนคนอื่นๆนะ ในเรื่องภาษานั้นเป็นเรื่องของทักษะต้องอดทนฝึกฝนเอา ส่วนเรื่องวินัยและความเข้มข้นในการเรียน ผมคิดว่าควรจะปฏิบัติให้ได้เหมือนกับที่นักศึกษาจีนปฏิบัติ เช่น นักศึกษาจีนมาเช้ากลับดึก เราก็ต้องทำให้ได้ นักศึกษาจีนขยัน เราก็ต้องขยัน (ดูนักศึกษาจีนเป็น Benchmark) เพื่อจะได้รีดศักยภาพของเราออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ก็ควรเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ดีเท่านั้นและควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมที่สุดหรือพอดีกับตัวเรา (อะไรที่ตึงหรือหย่อนไปก็ไม่ดี) เราจะได้มีความสุขที่จะเรียน

 

Admin: การดูแลให้คำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา?

พี่คัมภีร์: ผมว่าได้อาจารย์ที่ปรึกษาดี (ดีในที่นี้ของแต่ละคนอาจต่างกัน) เหมือนถูก Lottery เลยนะ ต้องยอมรับเลยว่าอาจารย์แต่ละท่านปฏิบัติกับนักศึกษาไม่เหมือนกัน อาจารย์ท่านเดียวกันก็อาจปฏิบัติกับนักศึกษาต่างกันด้วย ในส่วนที่แล็ปของผมนั้นจะมีการรายงานความก้าวหน้าทุกวันอาทิตย์ โดยจะมีอาจารย์คอยคอมเมนต์ ในงานวิจัยของเราซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเพราะประสบการณ์ในด้านการวิจัยของอาจารย์ที่มีมากกว่าเราก็จะช่วยแนะนำทิศทางข้อมูลต่างๆให้งานวิจัยของเรามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ส่วนในเวลาอื่นๆถ้ามีปัญหาใดๆก็สามารถที่จะเข้าไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาได้ตลอด นอกเหนือจากการให้คำปรึกษาด้านการเรียนแล้วอาจารย์ยังสอนถึงเรื่องการใช้ชีวิต การวางตัว รวมถึงทัศนคติในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้ในสภาพสังคมยุคปัจจุบันครับ

Admin: เรื่องการเรียนที่นี่ค่ะ

พี่คัมภีร์:ในช่วง 3 ปีแรกนักศึกษาในแล็ปจะต้องเข้าแล็ปทุกวันครับ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)

Admin: เข้าแล็ปทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ?

พี่คัมภีร์: ใช่ครับ ตั้งแต่ก่อนเก้าโมงเช้าจนถึงประมาณหนึ่งทุ่ม

Admin: เรียกว่าฝังตัวในแล็ปเลยทีเดียว

พี่คัมภีร์: ครับผม เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยว่างหรือจะว่างแค่ช่วงกลางคืนเท่านั้นครับ

Admin:อย่างนี้พี่แบ่งเวลายังไงคะ

พี่คัมภีร์: คิดว่าก็น่าจะเหมือนกันกับคนอื่นๆนะ เพราะฉะนั้นเวลาโดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยว่างหรือจะว่างแค่ช่วงกลางคืนเท่านั้น เวลาว่างก็จะมีการทำอาหารร่วมกันกับคนไทย ไปรับประทานอาหารข้างนอกร่วมกัน เฮฮาปาร์ตี้ ร้องคาราโอเกะบ้าง แต่หลังจากเข้าสู่ปีที่ 4 (ปิดแลปแล้ว) เหลือแต่เพียงเขียนวิทยานิพนธ์ เวลาว่างก็จะมากขึ้นได้มีเวลาไปออกกำลังกายกับพี่ๆเพื่อนๆน้องๆคนไทย เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แบดมินตัน รวมทั้งได้มีการท่องเที่ยวไปยังเมืองต่างๆของประเทศจีนและต่างประเทศร่วมกัน ผมมีความเชื่อที่ว่าถึงแม้เราจะมีเวลาน้อยสักแค่ไหนแต่เราก็ควรมีกิจกรรมอื่นๆทำเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนเพราะการจัดสรรเวลาที่ดี/แบ่งเวลาที่ดีจะช่วยให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นและช่วยลดความเครียด/กดดันจากการเรียน เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญบางกิจกรรมก็สามรถสร้างรายได้ให้กับเราได้อีกด้วยครับ

Admin: อยากให้พี่คัมภีร์พูดถึงมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) บ้างค่ะ

พี่คัมภีร์:มหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) คือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกครับ (ฟังไม่ผิดนะครับ55) อันดับ เป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในด้านต่างๆเช่น Architecture/Built Environment/ Urban Planning อยู่ในอันดับ 22 ของโลก, Engineering – Civil & Structural อันดับ 29, Art & Design อันดับ 34, Environmental Studies ช่วงอันดับ 101-150 เป็นต้น (QS World University Rankings, 2016) ครับ

Admin:แปลว่าการเข้าถึงช้อมูลงานวิจัยที่นี่ถือว่าโอเคเลย

พี่คัมภีร์: ใช่ครับ อย่างในด้านวิศวกรรมศาสตร์/วิทยาศาสตร์/การจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นการเข้าถึงข้อมูลด้านงานวิจัยก็จะเหมือนกัน คือเข้าในฐานข้อมูล (วารสาร) ต่างๆเช่น Web of Science, Scopus, Scimago เป็นต้นครับ

Admin:พูดถึงเรื่องการเรียนวิศวะในประเทศจีน?

พี่คัมภีร์:ผมว่าถ้าย้อนกลับไปหลายปีก่อนที่จะเดินทางมาเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่จีนนั้น เมื่อเราไปบอกคนอื่นๆหรือมีคนมาถามว่าจะไปเรียนต่อที่ไหน และเมื่อเอ่ยว่าประเทศ “จีน” เกือบจะทุกคนได้แต่เบ้ปากมองบนและกล่าวว่า “เห้ย!จริงดิ! ทำไมว่ะ? ทำไมไม่ไปประเทศอื่น เรียนที่ไทยดีกว่าไหมว่ะ? ฯลฯ” แต่หลังจากที่ได้เข้ามาเรียนและสำเร็จการศึกษาออกไปนั้น “ผมตัดสินใจไม่ผิด” ทุกวันนี้ในสาขาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจีนนั้นเหนือกว่าหลายๆประเทศในทุกๆมิติ ทั้งทางด้านศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษา เครื่องไม้เครื่องมือและทุนวิจัย ที่มีสูงมาก

2 (1)

Admin:แสดงว่าที่จีนกำลังเปิดกว้างในด้านนี้พอสมควร?

พี่คัมภีร์: ครับ ผมว่าทัศนคติและแนวทางในการพัฒนาประเทศของผู้นำประเทศก็มีส่วนสำคัญครับ จะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีของจีนหลายๆท่านจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้นประเทศจีนจึงมีการลงทุนด้านยุทธศาสตร์การศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก และจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์พบว่ามหาวิทยาลัยของจีน มีผลงานในด้านการวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่โดดเด่นและแซงหน้ามหาวิทยาลัยต่างๆที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าการศึกษาในด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นคำตอบที่สำคัญกับประเทศชาติซึ่งจำเป็นต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันต่อไป

Admin: บุคลากรของจีนหลายๆคนก็มีคุณภาพด้วย

พี่คัมภีร์: ครับ ในความคิดพี่คิดว่าประเทศจีนมีตัวเลือกบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งปริมาณและคุณภาพเยอะกว่าประเทศอื่นๆมาก และบุคลากรด้านนี้เองที่กลายมา เป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลังในการผลักดันให้ประเทศจีนพัฒนาไปอย่างดีและรวดเร็ว รวมไปถึงการแข่งขันทางด้านการศึกษาที่สูงด้วยครับ

Admin: ข้อคิดที่อยากฝากไว้

พี่คัมภีร์:การศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ“เป้าหมาย”คนที่กำลังคิดจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกนั้น“จง” มีเป้าหมายที่ชัดเจนตอบให้ได้ว่าเรียนไปทำไหม? จบแล้วไปทำอะไร? เรียนไปขำๆเก๋ๆ? ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนนอก? เรียนไปแล้วคุ้มค่าไหม? เห็นว่าการคัดเลือกไม่ยาก? เพราะการเรียนปริญญาเอกไม่สามารถบอกได้ว่าจะจบตามเวลาที่หลักสูตรกำหนดเมื่อจบช้าแน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นและอย่าลืมว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก

Admin: ใช่ค่ะ เวลาผ่านไปแล้วไม่หวนกลับคืน

พี่คัมภีร์: ครับผม แล้วยังมีเรื่องของความเครียดที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อสุขภาพจิตแย่ร่างกายก็แย่ตามได้โรคภัยต่างๆตามมานอกเหนือจากวุฒิการศึกษา (ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร) เช่นโรคนอนไม่หลับไมเกรนซึมเศร้าโรคอ้วนเพราะกินมากเมื่อมีความเครียดฯลฯ ในส่วนคนที่มีครอบครัวอยู่แล้วแน่นอนครับว่าสิ่งต่างๆที่พูดมาก็จะมีความรุนแรงทวีขึ้นไปอีก ในกรณีที่ลามาศึกษาต่อก็จะต้องรีบให้จบตามเงื่อนไขที่ทางต้นสังกัดกำหนดส่วนคนที่ยังไม่มีต้นสังกัดก็จะเจอกับความท้าทายที่น่าสะพรึงกลัวคือถึงแม้ว่าจะจบปริญญาเอกก็ไม่ได้การันตีว่าจะหาง่านได้ง่ายได้ทันที

Admin: มีแนวโน้มตกงาน?

พี่คัมภีร์: คือผมเชื่อนะว่าหลายคนที่มาศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้นมีเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเมื่อจบไปแล้วจะกลับไปเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆหรือนักวิจัยตามสถาบันต่างๆในประเทศไทย แต่ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีคนจบระดับปริญญาเอกเยอะมากในบางสาขารับ 1 ตำแหน่งแต่มีผู้สมัครมากกว่า 10 คน อีกทั้งการเปิดรับของมหาวิทยาลัยต่างๆตอนนี้เปิดรับน้อยมาก และเป็นเรื่องปกติมากที่อาจจะต้องรองานเป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งปีหรือมากว่านั้นนะครับ

4

Admin: หนูฟังแล้วรู้สึก…เสียวสันหลังเลยค่ะ

พี่คัมภีร์: ครับ ฟังถึงตรงนี้ผมว่าหลายๆคนที่คิดจะมาเรียนอาจจะตกใจได้! (ไม่ต้องตกใจไปครับเป็นแบบนี้จริงๆ 55) เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่าถ้าเรามีเป้าหมายเราก็ต้องโฟกัสและทำให้ได้ต้องตั้งเป้าว่าจะต้องเรียนให้จบและจบแบบมีคุณภาพ (โดยใช้เวลาให้เร็วที่สุด) เพื่อที่จะได้มีศักยภาพไปแข่งขัน (สมัครงาน) กับคนอื่นๆได้เพราะหลายๆครั้งเราอาจจะไม่ใช่คนที่ดวงดีหรือมีโชคที่ดี (เราไปทำอะไรกับมันไม่ได้นอกจากคิดดี/ทำดี) แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้แน่นอนนั่นก็คือการเตรียมให้ตัวเองมีความพร้อมที่สุดต่อโอกาสที่จะเข้ามา

Admin:เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

พี่คัมภีร์: ใช่ครับ ยังไงก็เป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะครับ

Admin: ขอบคุณพี่คัมภีร์มากนะคะที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับเราในวันนี้

พี่คัมภีร์: ยินดีครับ

 

จบไปแล้วสำหรับบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้นะคะ หวังว่าเรื่องราวของพี่คัมภีร์จะให้ข้อคิดดีๆ และเปิดมุมมองกับการเรียนในประเทศจีนมากขึ้น สุดท้ายแอดมินขอให้ทุกคนเที่ยวสงกรานต์อย่างมีสติ และอย่าลืม “ลุ่นเหวิน” อันเป็นที่รักยิ่งนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 16 น้ำเพชร จารุกิตติ์ ลิ้มวชิรานนท์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขา Food Science จากรั้ว ZJU Zhejiang University

petch1

 

สวัสดีค่ะคอลัมน์ “ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกร” สัปดาห์นี้ เราจะพาไปรู้จักกับสาวปริญญาเอกสายวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Zhejiang University ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อนึกถึงสาย Food Science คนจะไม่ค่อยนึกถึงประเทศจีนเท่าไหร่ แต่สำหรับคนต้นเรื่องของเราในวันนี้เธอเลือกที่จะมาเรียนต่อในสาขานี้ที่ประเทศจีน ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง เราไปทำความรู้จักกับเธอกันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะ น้ำเพชร

น้ำเพชร: สวัสดีค่ะ

Admin: รบกวนแนะนำตัวด้วยค่ะ

น้ำเพชร: ชื่อ จารุกิตติ์ ลิ้มวชิรานนท์ ค่ะ ตอนนี้เรียน Food Science คณะ Biosciences and engineering ที่ Zhejiang University ค่ะ

Admin: หลักสูตรที่นี่เรียนกี่ปีคะ

น้ำเพชร: หลักสูตร 4 ปีค่ะ

Admin: แล้วมีกี่หน่วยกิตคะ

น้ำเพชร: 14 หน่วยกิตค่ะ มี 7 วิชา ก็อัดในปีแรก 2 เทอม ปีแรก

Admin: เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ

น้ำเพชร: ใช่ค่ะ

Admin: จุดสนใจที่ทำให้มาเรียนด้าน Food Science?

น้ำเพชร: จริงๆความสนใจเริ่มมาตั้งแต่สมัยม.ปลายแล้วค่ะ เพชรเป็นคนชอบชีวะ-เคมีมาก แต่ว่าตอนนั้นพ่ออยากให้เรียนหมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งเราก็ได้ไปคุยกับคนที่เป็นหมอ ไปดูที่โรงพยาบาลแล้วก็ถามตัวเองว่ามันใช่เราไหม แล้วเราจะทำใจได้หรือเปล่าถ้าเกิดคนไข้ตาย ก็มีไปค่ายแนะแนวด้านหมอครั้งหนึ่งก็ยิ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา แล้วพอดีในค่ายมีคนที่ทำอาชีพด้าน Food Science มาพูดให้เราฟัง ประกอบกับที่บ้านทำเรื่องอาหารอยู่แล้วก็เลยรู้สึกสนใจ เพราะมันใกล้ตัวแล้ว อย่างเช่นเป็นอันนี้ขึ้นมาแล้วควรกินอะไร ผมแตกปลายควรกินอะไร มันเหมือนเราได้ดูแลคนที่เรารักตลอด ให้เขาได้กินในของที่มันดี แล้วมันมีช่วงนึงค่ะตอนเพชรอายุ 15 ไปเรียนที่อเมริกา ตอนนั้นที่นั่นมีน้ำดื่ม vitamin water ซึ่งมันถือเป็นอะไรที่ใหม่มาก เหมือนตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้เลยว่า Amino-peptide คืออะไร ที่บ้านเราเองก็ยังไม่มีวางขายในท้องตลาด เราก็ยิ่งรู้สึกสนใจมากรู้สึกว่ามันดีจริงๆ หรือว่าในช่วงพัฒนาของเด็กในช่วงวัยที่เขาโตควรจะได้รับสารอาหารอะไร

petch3

Admin: ฟังแล้วรู้สึกเหมือนได้อ่าน vitamin-bible อีกรอบเลยค่ะ

น้ำเพชร: มันใช้ได้จริงนะ อย่างเวลาเป็นอะไรเล็กๆน้อยคนสมัยนี้ชอบพึ่งยา เช่นปวดท้องกินยาสิ แต่จริงๆนะถ้าเรารู้ เช่นถ้าเรามีอาการปวดท้องเราควรถามตัวเองก่อนว่าปวดตรงไหนแล้วทำไมถึงปวด สองชั่วโมงที่แล้วกินอะไรลงไป แล้วเราก็จะสังเกตได้ว่าเอ๊ะถ้าปวดแบบนี้อาจจะเป็นเพราะแบคทีเรียตัวนี้หรือเปล่า แล้วมีครั้งหนึ่งเหมือนเพื่อนเพชรปวดท้อง เพชรก็ถามว่าเป็นอะไรมา ก็คิดว่าน่าจะกินอะไรที่ไม่สะอาดเข้าไปหรือเปล่า อาจจะมีแบคทีเรียตัวหนึ่ง เพชรก็เลยให้กินแอปเปิ้ลเพราะในแอปเปิ้ลมันจะมีสารตัวหนึ่งที่ไปกำจัดไอ้แบคทีเรียตัวนั้นที่มันอาจจะกัดกระเพาะอยู่ แล้วก็ลองดู ให้เขากินข้าวตามปกติ แล้วเขาก็ควรจะถ่ายออกมา ซึ่งถ่ายออกมาปกตินะไม่ใช่ท้องเสีย แล้ววันนั้นเขาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เขากินแอปเปิ้ลเข้าไปครึ่งลูก ไม่เกิน 20 นาทีเขาหายเลย ก็เลยยิ่งทำให้เพชรเห็นว่ามันมีประโยชน์จริงๆ แล้วเพชรเองก็เป็นคนชอบดูแลตัวเองอยู่แล้วด้วยค่ะ ซึ่งอันนี้เวลาเราไปซื้อครีมเราอ่านแล้วเราก็จะรู้ด้วยว่ามันสกัดมาจากอะไร

Admin: ตอนป.โทเพชรเรียนที่ไหนมาคะ?

น้ำเพชร: เพชรเรียนโทที่อังกฤษค่ะ ที่ Nottingham เรียน Food Production Management ซึ่งก็จะมีด้านบริหารโรงงานเข้ามาด้วยค่ะ ตอนป.ตรีก็เรียน Food Science ที่มหิดลค่ะ

Admin: อันที่จริงแล้วจีแอบสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือเวลาเราอ่านข่าวเราก็จะพบว่าที่จีนเองก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารอยู่บ้าง แล้วอะไรทำให้เพชรสนใจมาเรียนต่อสาขานี้ที่ประเทศจีน แล้วทำไมเลือกมาที่ ZJU?

น้ำเพชร: คือต้องบอกว่าส่วนตัวแล้วเพชรเป็นคนที่ทำอะไรแล้วต้องทำให้สุด เรียนแล้วก็ต้องเรียนให้สุด พอจบโทแล้ว ก็รู้ตัวเองว่าต้องต่อเอกแน่นอน คือเพชรสมมติว่าถ้าเอาความชอบ ความรัก ความสามารถ 3 สิ่งนี้รวมเป็นหนังสือ 1 เล่ม เป็นตำราอาหาร เพชรสามารถเอาหนังสือเล่มนี้ไปอ่านที่ไหนได้บ้าง? ถ้าสมมติต่อเอกที่ไทย หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนอ่านในห้องนอน แล้วถ้าเพชรมีคำถามไม่เข้าใจถามใครก็ไม่ได้ อ่านแล้วก็หลับไป ถ้ากลับไปต่อที่อังกฤษก็เหมือนเอาหนังสือไปอ่านในสวนสาธารณะ ซึ่งเพชรสามารถถามใครก็ได้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำจริง แต่ถ้ามาที่จีนมันเหมือนเพชรได้เอาหนังสือเข้าไปนั่งอ่านในห้องครัว ซึ่งพออ่านจบแล้วเราสามารถเอาไปทำได้เลย เพราะประเทศจีนเขามีคอนเนคชั่นเยอะ แล้วตอนที่เพชรอยู่อังกฤษก็มีเพื่อนคนจีนด้วย ซึ่งเพื่อนก็บอกว่า Food Science ที่จีนกำลังบูมนะ เพราะว่าอาหารที่จีนมีปัญหาเรื่องมาตรฐาน แล้วเขาเองก็ต้องการจะปรับมาตรฐานของเขาให้เทียบเท่ากับต่างชาติให้ได้ แล้วประเทศเขาก็กำลังขยายตัวเร็วมาก เราก็เริ่มสนใจ เราก็ได้ข้อมูลจะต่อเอกจากเพื่อนแนะนำให้ค่ะ ซึ่งเพื่อนก็เรียง Ranking มหาลัยในจีนมาให้เราเสร็จ แล้วอีกอย่างตอนนั้นก็ได้ถามเรื่องทุนกับพี่ป่านด้วย ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติม แล้วเราเองก็ดูแล้วที่ ZJU นี้ Professor ที่นี่ก็คอนเนคชั่นเยอะ แล้วมหาวิทยาลัยก็ใหญ่ ก็น่าจะมีคอนเนคชั่นกับพวกโรงงาน ก็แปลว่างานเราที่ทำออกมาเขาสามารถเอาไปใช้จริงได้ ก็เลยลองขอทุนมาเรียนต่อที่นี่ค่ะ

Admin: ถือว่ามีเป้าหมายชัดเจนทีเดียว

น้ำเพชร: คือเพชรคิดว่าชีวิตคนเราต้องมีช่วงเวลาของการศึกษาและเวลาของการเรียนรู้ ศึกษาก็คือเวลาที่เราอ่าน เราศึกษาประสบการณ์ของคนอื่น แต่เรียนรู้นี่คือตัวเราเองแล้ว คนเราจะมากจะน้อย มันอยู่ที่การเรียนรู้ อย่างศึกษาหนังสือเล่มหนึ่ง 20 chapter 400 หน้าใครๆก็อ่านได้ แต่มันต่างกันตรงที่เขาอ่านแล้วเอาไปทำอะไร เอาไปสอบหรือเอาไปต่อยอดอะไรอีก สำหรับเพชร เพชรว่า ป.ตรีคือการศึกษา ป.โทคือศึกษาครึ่งหนึ่งเรียนรู้ครึ่งหนึ่งแต่ป.เอกนี้คือการเรียนรู้ 100% แล้ว คือเพชรอยากลองทุกอย่าง ทำทุกอย่างที่เพชรอยากทำ บางคนก็บอกว่าใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยตลอดมันจะดีหรอ ซึ่งเพชรคิดว่าเพชรเข้าแล็ปแล้วเพชรเกิดการเรียนรู้ คือบางครั้งมันอาจจะดีกว่าคนที่ไปทำงานเช้าเย็นกลับซึ่งเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรต่อจากที่เคยรู้มาแล้วก็ได้ ดังนั้นการเข้ามาเรียนปริญญาเอก และมาเรียนที่นี่ก็ถือว่าตอบโจทย์ชีวิตของเพชรมาก

Admin: ทำในสิ่งที่เรารัก เจอปัญหาหรืออุปสรรคใดๆก็เลยไม่ท้อ

น้ำเพชร: ใช่ค่ะ คือเพชรเป็นคนที่ถ้าเลือกที่จะทำอะไรแล้วจะถามตัวเองอยู่ 2 คำถามตลอดว่า “เพชรรักไหม” แล้วสิ่งที่เรารักเนี่ย “มันไปต่อได้ไหม”

petch4

Admin: พูดถึงชีวิตในแล็ปบ้าง?

น้ำเพชร: แล็ปก็เข้าตลอดค่ะ อย่างช่วงที่ผ่านมาก็เข้าแล็บ 16 ชั่วโมงต่อวันเพราะว่ากำลังเร่งงานอยู่ มีครั้งหนึ่งอยู่ถึงตีสาม แต่ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ก็เลยปรับเวลาใหม่ตื่นตี 5 แทนแล้วไปแต่เช้า คือเพราะผลมันรันทุกนาที เราก็เลยต้องอยู่ตลอด แล้วคือเพชรต้องทำชาร์ตออกมาให้เห็นเลยว่านาทีนี้เราต้องทำอะไร เกิดอะไร ต้องมีสติอยู่กับมันตลอด ตอนนั้นคือไม่ได้กินข้าวเลยนะ 16 ชั่วโมง แต่มันก็สนุกมาก

Admin: แสดงว่าแนวทางของเรานี้คือชอบแล็ป ชอบทดลองมาก

น้ำเพชร: คือเพชรเริ่มสนใจและคิดว่าการได้ทำทดลองมันเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆเอาตอนที่เรียนป.โทค่ะตอนนั้นเพชรมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ลอนดอน ไปคิดสูตรให้โรงงานที่นั่น เค้าอยากได้ Tortilla Wrap ที่เป็น Gluten-free และเก็บได้นานเกิน 3 เดือน จริงๆโรงงานของเค้าเป็นโรงงานทำแป้งแพนเค้ก แต่ว่าเค้าอยากจะทำ Tortilla Wrap ขึ้นมา เราก็ต้องไปคิดสูตรอะไรก็ได้ให้เขาสามารถนำไปใช้กับเครื่องมือที่เค้ามีอยู่ได้ ซึ่งถือว่ายากมาก แค่ส่วนผสมที่ขาดกลูเตนไปก็ถือว่ายากแล้ว แป้งมันก็จะขาดออกจากกันเพราะมันไม่มีความเหนียว ช่วงนั้นอาทิตย์แรกเราก็ต้องไปอยู่ที่ลอนดอน ไปดูว่าเค้าทำงานอะไรบ้าง มีสเต็ปอะไรบ้าง แล้วหลังจากนั้นก็กลับมาอยู่แล็ปที่มหาลัย มาลองสูตร แล้วทุกๆอาทิตย์เราก็ต้องเข้าลอนดอนไป เขาจะมี workshop ให้เราทำ เช่นอาทิตย์นี้ ไปลองแป้งสูตรนี้สำหรับทำพิซซ่า คือเค้าจะมี workshop ให้เราทำตลอด แล้วพอถึงเวลาปุ๊บก็จะเป็นช่วงที่เราต้องลองสูตรของเรา เค้าก็จะปิดโรงงานให้เรารันสูตรเลย 1 วันเต็มๆ คือตอนทดลองเหมือนเราได้เรียนรู้กับมัน เพราะเราจะเห็นเลยว่าแป้งอันไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ อย่างแป้งสาลีก็ใช้ไม่ได้ ต้องใช้แป้งอย่างอื่นสารพัดแป้ง แล้วก็ต้องหาตัว emulsifier หรืออะไรอย่างอื่นแทนที่ทำให้มันเกาะกันได้เข้าไปแทน แล้วไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่แค่ทำให้มันเกาะกันได้ แต่มันต้องคำนึงถึงรสชาติ เราต้องทำให้มันกินได้ด้วยมันถึงจะสำเร็จ ซึ่งก็ถือเป็นอะไรที่เราได้เรียนรู้อยู่ตลอดค่ะ

Admin: แล้วตอนนี้แนววิจัยของเพชรเกี่ยวกับอะไรคะ?

น้ำเพชร: ตอนนี้เพชรกับอาจารย์ก็กำลังลองสกัดสาร Bio-active ออกมาจากเมล็ดบัว ซึ่งปกติเวลาเค้าจะสกัดสารเค้าจะใช้พวก Methanol หรือ Ethanol ซึ่งมันเป็นแอลกอฮอล์ เพชรก็เลยลองใช้ Glycerol สกัดออกมาดู ซึ่งอันนี้มันเป็นธรรมชาติมากกว่าค่ะ

Admin: ในส่วนของอุปกรณ์ หรือแล็ปที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง?

น้ำเพชร: พร้อมมากค่ะ อุปกรณ์พร้อม ที่ Department มีให้ทุกอย่าง แต่ว่าถ้าสมมติมีอะไรขาด หรือถ้าเราอยากได้อะไรเพิ่มก็แค่พิมพ์บอกเขาไป บอกเขาว่าเราอยู่ห้องไหน Supervisor เราเป็นใครก็ส่งไปบอกเค้าใน QQ บางทีตอนบ่ายเขาก็เอามาส่งให้เราที่แล็ปแล้ว แต่ถ้าบางอันมันไม่มีก็ต้องรอนานหน่อย

petch6

Admin: เพื่อนๆ ในแล็ปนี้เป็นยังไงบ้างคะ

น้ำเพชร: คือเพื่อนในแล็ปนี่น่ารักมากนะ แต่ว่าแรกๆก็รู้สึกว่าเค้าจะกลัวการพูดภาษาอังกฤษ เหมือนพอเราคุยกับเพื่อนเค้าก็จะวิ่งไปเลยนะ ไปหาเพื่อนอีกคนบอกให้ช่วยแปล บอกนี่แปลๆให้หน่อย แต่เด็กๆจีนนี่น่ารักนะ เหมือนมีอะไรเค้าก็จะพยายามช่วยเต็มที่จริงๆ

Admin: แล้วในสายที่เพชรเรียนมีนักเรียนต่างชาติเยอะไหมคะ?

น้ำเพชร: อาจารย์รับเพชรเป็นคนแรกค่ะ ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมี

Admin: พูดถึงอาจารย์ที่ปรึกษาบ้าง

น้ำเพชร: จริงๆกับที่ปรึกษาก็มีช่วงหนึ่งที่เราเคยมี conflict กันนิดหน่อย จากตอนแรกที่คุยกันได้ดีๆ จนมีมองหน้ากันไม่ติด แล้วก็กลับมาคุยกันได้ปกติอีกครั้ง คืออาจารย์ก็ถือว่า Ranking สูงมากในมหาลัย แล้วเรามารู้ทีหลังจากเด็กจีนว่า เด็กป.ตรีที่อยากเรียนกับอาจารย์จะต้องเป็นที่ 1 ของคณะเท่านั้น อาจารย์ถึงจะรับเป็นที่ปรึกษา ดังนั้นอาจารย์ก็เลยมีความคาดหวังสูงมาก และเหมือนว่าที่นี่จะมีธรรมเนียมปฏิบัติอะไรหลายๆอย่างที่เราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะว่าอาจารย์เองก็ไม่เคยพูด ในเอกสารก็ไม่มี เพื่อนก็ไม่เคยบอก คือเราต้องสังเกตเอง แล้วก็รับรู้เอง อย่างเช่นว่าถ้าวันเปิดเรียนวันที่ 18 เราต้องมาตั้งแต่ 12 คืออาทิตย์นึงก่อนเปิด คือต้องสังเกตเอาเอง หรือบางทีอาจารย์อาจจะพูดอีกอย่าง แต่จะเอาอีกอย่าง อย่างตอนแรกๆเพชรเขียน Proposal ไปทั้งหมด 10 กว่าอัน ก็โดน reject กลับมาหมด ซึ่งเราก็ไม่เขาใจว่าอาจารย์ต้องการอะไร ก็เลยไปคุยกับรุ่นพี่คนหนึ่ง เค้าก็บอกเราว่า เป็นแบบนี้ล่ะ อาจารย์เขาจะมีในใจแล้วอันนึง แต่เขาจะไม่บอกเรา ให้เราไปทดลองทำมา ไปอ่านมาให้ทั่ว แล้วถ้ามันตรงเขาก็จะบอกว่าใช่ ถ้ามันยังไม่ใช่ก็ให้ไปหามาใหม่ ซึ่งอันนี้เราก็ต้องสังเกตเอาเองจริงๆค่ะ

Admin: ค่อนข้างหินพอสมควร

น้ำเพชร: ใช่ค่ะ แต่ว่ามันก็ดีนะ คือเหมือนอาจารย์ก็จะไว้ใจเราด้วย อย่างอาจารย์เป็น Reviewer Editor ของสำนักพิมพ์หนึ่ง ก็จะส่งมาให้เราช่วยอ่านแล้วก็ดูว่าอย่างนี้ แบบนี้สมควร Publish ไหม ซึ่งตอนแรกเราก็เกร็งนะ เหมือนเราก็เพิ่งมาได้ไม่นาน แล้วอาจารย์ให้เรามาทดลองทำอะไรแบบนี้ งานแรกที่เขาให้มานี้เพชรทำอยู่ 3 อาทิตย์ แต่จะว่าไปเราก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย ทำให้เห็นว่าอยู่ที่นี่ต้องขยันจริงๆ อย่างเด็กที่แล็ปเพชรคืออยู่กันตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม เพชรเคยถามเพื่อนนะว่าทำไมต้องมาเช้าขนาดนี้ เพื่อนก็บอกว่า เราควรมาก่อนอาจารย์และกลับหลังอาจารย์เพื่อให้อาจารย์เห็นว่าเราขยัน ซึ่งเพชรก็เคยคุยกับอาจารย์นะ อาจารย์เองก็บอกว่าเราเองก็ควรมาแบบนี้เหมือนกัน

Admin: ก็ถือว่าต้องปรับตัวกันไป

น้ำเพชร: ใช่ เพชรว่าเพชรได้เรียนรู้อะไรจากที่นี่เยอะมาก

Admin: แล้วอันนี้มีไปเข้าแล็ปที่ต่างประเทศอีกไหมคะ?

น้ำเพชร: มีโควต้าตอนปี 3 ที่ส่งออกไปประเทศอื่นค่ะ อย่างเพื่อนเพชรมีอยู่ 2 คนก็เพิ่งบินไปอเมริกา

Admin: พูดการเข้าถึงข้อมูลงานวิจัย?

น้ำเพชร: ตอนแรกเราก็คิดว่า paper เขาน้อยนะ เพราะทำไมมันหายากจัง แต่พอตอนหลังรู้ช่องทางแล้ว ก็พบว่าช่องทางโหลด paper เค้าเยอะมาก มีเป็น 100 ลิงค์อะ จะเอาอันไหนเลือกเลย คือ access เค้าเยอะมากจริงๆ อยู่ที่เรานี่ล่ะว่าจะรู้หรือเปล่า

Admin: ได้ข่าวว่าตอนนี้เพชรกำลังทำผลิตภัณฑ์อยู่ตัวนึงด้วยใช่ไหมคะ?

น้ำเพชร: ค่ะ เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าเนื้อเซรั่ม ชื่อแบรนด์ Queen’s ทำกับพี่สาวซึ่งถนัดงานวิจัยด้านสารสกัดจากปลิงทะเลและเซลล์มะเร็งค่ะ

Admin: ข้อคิดที่อยากฝากให้คนที่สนใจอยากจะมาเรียน

น้ำเพชร: เพชรว่าคนเราไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องถามตัวเองว่ารักไหม? แล้วที่เรารักมันไปต่อได้ไหม? เหมือนสมมติให้เราเอามันมารวมเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เราต้องถามตัวเองว่าเราสามารถเอาหนังสือเล่มนี้ไปอ่านที่ไหนแล้วดีที่สุด บางสิ่งที่เราเลือกด้วยเหตุผลบางครั้งเราอาจจะท้อแต่ขอให้เราไม่ถอย อย่างการมาเรียนปริญญาเอกการเรียนรู้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่ขอให้เราอดทนและจริงจัง ไม่ท้อถอย ทำคือทำ แล้วเรื่องแย่ๆทุกอย่างที่เกิดขึ้นถ้าผ่านไปได้มันก็จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่งเท่านั้น

Admin: ขอบคุณน้ำเพชรมากๆที่สละเวลาทำวิจัยออกมาให้สัมภาษณ์กับเราวันนี้

น้ำเพชร: ยินดีค่ะ

petch5

เรียกว่าเราได้เปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ การเข้าแล็ปและทำวิจัย และรู้จักเส้นทางของการเรียน Food Science ในจีนผ่านเรื่องราวความมุ่งมั่น ตั้งใจจากน้องน้ำเพชร และยังได้รับแรงบันดาลใจและข้อคิดดีๆในการเรียนต่อปริญญาเอกจากเธอด้วยเช่นกัน สำหรับใครที่สนใจผลิตภัณฑ์ของเธอนั้นสามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ https://www.facebook.com/Officialqueenskins/

และในสัปดาห์หน้าเราจะไปสัมภาษณ์ใคร อย่าลืมติดตามได้ในเพจ Thai Ph.D. in China นะคะ วันนี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

Blog at WordPress.com.

Up ↑